-:: ประวัตินักบุญในรอบปี ::-

   
   
   

 

นักบุญคือใคร

"นักบุญ" ก็คือคนธรรมดาสามัญที่เกิดมาบนโลกนี้อย่างเราๆ แต่เนื่องจากระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ท่านได้ดำเนินชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อในพระศาสนาอย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ เพราะความรักที่มีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่องสดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่างที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้าผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดรอยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้าในสวรรค์แล้วนั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นักบุญ" เป็นอย่างไร

ในพระธรรมเก่านั้น คำว่า "นักบุญ" หมายถึงบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือกสรรที่จะประทานความศักดิ์สิทธิ์ให้ พอมาในสมัยพระธรรมใหม่ "นักบุญ" หมายถึงคริสตชนทุก ๆ คน (เพราะเชื่อว่าพระคริสตเจ้าได้เกิดมาเพื่อช่วยให้มนุษย์ได้กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์) ต่อมาใน 6 ศตวรรษแรก ๆ ของพระศาสนจักรนั้น คำ ๆ นี้กลับกลายเป็นตำแหน่งอย่างหนึ่งสำหรับเรียกผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่าในสมัยนั้นคริสตศาสนายังถูกเบียดเบียนและข่มเหงอยู่มาก

บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคนได้ถูกจับไปประหารชีวิตเพราะเป็นคริสตชนหรือไม่ยอมทิ้งศาสนา บางคนถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น ถูกต้มในกะทะน้ำมันเดือดๆ หรือถูกปล่อยให้สิงโตกินในสนามกีฬากลางแจ้งของชาวโรมันที่เรียกว่า "โคลีเซียม" และอีกมากมายหลายวิธี

ในสมัยนั้นเมื่อมีคนใดคนหนึ่งตายเพื่อยืนยันความเชื่อแล้ว พวกคริสตชนจะพยายามเก็บศพนั้นไว้อย่างดี บางทีก็ต้องนำไปฝังในที่ลับ เช่น กาตากอม หรืออุโมงค์ใต้ดิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนที่กำลังเบียดเบียนมาทำลายหรือลบหลู่ดูหมิ่นนั่นเอง ต่อมาเมื่อคริสตศาสนาได้รับการยอมรับ และกลายเป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนาก็มีจำนวนลดน้อยถอยตามไปด้วย จึงมีคนคิดว่า การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญนั้น ไม่จำเป็นจะต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่การมีชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อและดำเนินไปตามพระบัญญัติ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญได้ด้วย

ตั้งแต่นั้นมาการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่นๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นในพระธรรมคำสอนและปฏิบัติคุณงามความดีอย่างเคร่งครัด และซื่อสัตย์เพราะเห็นแก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ซึ่งก็มีมากมายหลายคน และแต่ละคนต่างก็มีความดีเด่นแตกต่างกันไป บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ในพระสัจธรรมหรือเป็นนักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับยกย่องว่าเป็น "ธรรมสักขี" (Confessors)

วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญเป็นมาอย่างไร

ตามที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีการขยายการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จากบุคคลที่พลีชีพเพื่อศาสนาอย่างเดียว มาเป็นบุคคลที่ปฏิบัติคุณงามความดีตามพระธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัดนั้น ก็ได้ทำให้ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 6-10 ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนเกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญ วิธีที่ใช้ในขณะนั้น ก็คือ การดูจากจำนวนคนที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ และได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือหรือการโจษจันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ ๆ

ดังนั้นทางพระศาสนจักรจึงได้คิดว่าน่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่ายได้รับการยกย่อ งเทิดทูนอย่างแท้จริง จึงได้ตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบการแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญขึ้น ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ โดยในระยะแรก ๆ การจะอนุมัติให้เคารพคนนั้นคนนี้ในฐานะที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราชหรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงองค์เดียว

วิวัฒนาการของการดำเนินการประกาศแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญ นับวันก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1642 สมเด็จพระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกาว่าด้วยกฎเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ชื่อว่า "Decreta servanda in canonizatione et beatificatione sanctorum" ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระสัน ตะปาปาปีโอที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ.1930 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวงว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจากสมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับคำร้องและพิธีการดำเนินการประกาศแต่งตั้งนักบุญทั่วพระศาสนจักรสากลโดยตรงนั่นเอง

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ