นักบุญ เยโรม พระสงฆ์และนักปราชญ์ (ค.ศ.347-419)

ระลึกถึงวันที่ 30 กันยายน

นักบุญ เยโรม เกิดที่สตรีโด ( เป็นไปได้อาจจะใกล้ๆ กับเมืองอาควีเลยา ) ท่าน ได้รับการศึกษาอย่างดีที่กรุงโรม และก็ได้ทำการศึกษาของท่านต่อไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ด้วยการเดินทางนับครั้งไม่ถ้วนของท่าน ซึ่งในการเดินทางเหล่านี้ท่านได้พบปะ และพยายามผูกมิตรกับปิตาจารย์ที่มีชื่อเสียง และมีความรู้ของศาสนจักรตะวันออกบางท่านด้วย ท่านได้รับศีลล้างบาปเวลาที่มีอายุได้ 25 ปี และได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อมีอายุ 38 ปี

ดูเหมือนว่าในตัวท่านจะมีลักษณะนิสัยที่ตรงข้ามกันผสมผสานกันอยู่ เช่น อารมณ์ที่ร้อนเป็นไฟแต่ก็เคล้าด้วยน้ำตา เป็นคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหวง่ายแต่ก็จริงใจ เป็นคนที่เคร่งครัดแต่เต็มไปด้วยความร้อนรน เป็นคนใจร้อนแต่ก็อ่อนโยน เป็นคนที่อารมณ์ผลุนผลันแต่ก็ตรงไปตรงมา ชีวิตของท่านเป็นชีวิตที่ชอบอดอาหาร ทำงาน สวดภาวนาและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ท่านมีพรสวรรค์ เป็นคนที่มีความรู้กว้างขวางพูดได้ถึง 5 ภาษาด้วยกัน เป็นผู้ที่มีความรักต่อพระคริสตเจ้า และต่อพระศาสนจักรอย่างแท้จริง พรสวรรค์ต่างๆ เหล่านี้แหละที่ได้ทำให้ท่านเป็นนักเขียนชั้นหนึ่ง และเป็นปิตาจารย์ที่เลิศสุดคนหนึ่งในบรรดาปิตาจารย์ลาติน ตลอดทั้งชีวิตของท่าน ท่านได้พยายามต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะตัวเอง คุณธรรมแห่งความเป็นลูกผู้ชายของท่าน รวมทั้งความศรัทธาแก่กล้าของท่าน ได้ดึงดูดวิญญาณเป็นจำนวนมากให้ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด

ในระยะแรกแห่งชีวิตของท่านนั้น ท่านได้เดินทางไปในภาคพื้นดินทางตะวันตกและตะวันออก เพื่อแสวงหาประสบการณ์ทางชีวิตฤาษีและทำการใช้โทษบาป รวมทั้งเพื่อการศึกษาเล่าเรียนด้วย แต่ที่สุดก็ได้มาหยุดอยู่ที่กรุงโรม ท่านได้เป็นเลขานุการของพระสันตะปาปาดามาซูส ซึ่งได้มอบหมายให้ท่านแปลพระคัมภีร์เล่มครบเป็นภาษาลาติน ซึ่งยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ ส่วนในระยะที่สองแห่งชีวิตของท่านนั้น คือหลังจากที่พระสันตะปาปาดามาซูสสิ้นพระชนม์แล้ว(385) ท่านก็ได้ออกเดินทางไปในภาคพื้นดินตะวันออก และที่สุดได้มาเจริญชีวิตช่วง 34 ปีสุดท้ายโดยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เบทเลแฮม อุทิศตนเอง ให้กับการแปลและอธิบายพระคัมภีร์

ท่านได้ใช้เวลาว่างในการนำวิญญาณของกลุ่มสตรีที่บำเพ็ญพรตที่ท่านได้เริ่มเอาไว้ที่กรุงโรม โดยท่านเป็นทั้งอาจารย์และสหายของนักบุญ Paula, นักบุญ Marcella, และ นักบุญ Eustochium ซึ่งกลุ่มสตรีเหล่านี้ได้ติดตามท่านมาที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้เจริญชีวิตที่เบทเลแฮมด้วยจิตตารมณ์แห่งเขากัลวารีโอ โดยได้ผนวกเอาความอ่อนโยนของพระเยซูกุมารและพระแม่มารีย์เข้าไว้ด้วย ท่านได้ผลิตผลงานทางด้านวรรณคดีและพระคัมภีร์ไว้มากมาย ซึ่งทำให้ท่านเป็นนักปราชญ์ลาตินที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง และเป็นองค์อุปถัมภ์ของนักพระคัมภีร์

“จำเป็นที่บทเทศน์ของพระศาสนจักร และแม้คริสตศาสนาเองจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยง และควบคุมดูแลจากพระคัมภีร์” ( DV 21 ) นี่เป็นคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 และกำลังกลายเป็นความจริงที่บรรเทาใจเรา เพราะบทอ่านในมิสซาและในบทภาวนาของพระศาสนจักรสำหรับนักบวชที่เต็มไปด้วยบทอ่านจากพระคัมภีร์ กำลังผลิตผลอันอุดมสมบูรณ์ให้กับพระศาสนจักร นักบุญ เยโรม ได้เตือนเราว่า“ใครที่ไม่รู้จักพระคัมภีร์ ก็จะไม่รู้จักพระคริสตเจ้าด้วย”

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้เราเอาจริงเอาจังกับการฟังพระวาจาของพระเจ้า และให้ถือเป็นหน้าที่ของเราด้วย

2. เมื่อเราได้รับการทดลอง ก็ขอให้เราได้เข้าพึ่งพระวาจาของพระเจ้าด้วยเถิด

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลจันทบุร