นักบุญ เกรโกรี องค์ใหญ่ (ค.ศ. 540 - ค.ศ.604)

พระสันตะปาปาและนักปราชญ์

ระลึกถึงวันที่ 3 กันยายน

นักบุญ เกรโกรี องค์ใหญ่ เป็นบุคคลที่น่าพิศวงจริงๆ เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพน่าเกรงขาม แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนิสัยที่น่ารัก ด้วยตัวพระองค์เองนั้นยิ่งใหญ่กว่าผลงานอันน่าพิศวงของพระองค์เสียอีก แม้ว่าจะต้องถูกเนรเทศและป่วยไข้ไม่สบายอยู่บ่อยๆ แต่เป็นเพราะความใจกว้างและมีจิตตารมณ์เยี่ยงคริสตชนนั้น ได้ทำให้พระองค์สามารถสู้ทนกับทุกสิ่งทุกอย่าง

นักบุญ เกรโกรี องค์ใหญ่ เกิดประมาณปี 540 ในครอบครัวของสมาชิกวุฒิสภาตระกูลอานีซี ครั้งแรกพระองค์ได้รับเลือกให้เป็นข้าหลวงของกรุงโรม ต่อมาได้สมัครมาใช้ชีวิตแบบฤาษีด้วยเหตุผลที่รักชีวิตการเพ่งฌานอย่างที่สุด โดยชอบรำพึงถึงธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระเจ้าจากการอ่านพระคัมภีร์ พระองค์ได้อยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลเป็นผู้แทนขององค์สมเด็จพระสันตะปาปานานถึง 6 ปี โดยเจริญชีวิตเป็นฤาษีอยู่ในราชสำนัก แล้วได้กลับมาที่กรุงโรม และได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 64 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 590

พระสันตะปาปาเกรโกรี องค์ใหญ่ ได้แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นคนที่ทำงานจริงๆ พระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นชาวโรมันคนสุดท้าย เป็นนักปกครองที่มองการณ์ไกลและเต็มไปด้วยพลัง พระองค์ได้พยายามเอาใจใส่สนองความต้องการของทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคมก็ดี หรือทางการเมืองก็ดี พลางให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครอง และเป็นต้นเกี่ยวกับปัญหาภายในต่างๆ ของพระศาสนจักรสากล พระองค์ได้ทรงทำสนธิสัญญากับประเทศเยอรมันนี สเปน กัลลีอา ( ฝรั่งเศส ) อาฟริกา และอาณาจักรไบซันทีน พระองค์ได้เอาธุระช่วยเหลือประเทศอิตาลีเป็นพิเศษ คราวที่เกิดข้าวยากหมากแพง เกิดโรคระบาด น้ำท่วม ฯลฯ พระองค์ได้ส่ง “คณะธรรมทูต” ไปประเทศอังกฤษ และได้จัดวางระเบียบใหม่เกี่ยวกับพิธีกรรมโรมัน ได้พยายามรวบรวมหนังสือพิธีกรรมเก่าๆ และได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ได้จัดการแต่งบทเพลงทางพิธีกรรมขึ้นใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นที่เราเรียกว่า “บทเพลงเกรโกเรียน”

พระสันตะปาปาเกรโกรี องค์ใหญ่ เป็นนักเพ่งฌานที่มีแบบฉบับของตนเอง และทุกวันนี้ เราได้ค้นพบว่า พระองค์เป็นนักเทววิทยามากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อเราได้มีโอกาสสัมผัสหรืออ่านบทความต่างๆ ของพระองค์ พระองค์ได้มีอิทธิพลอย่างมากทีเดียวต่อชีวิตภายในของคนในสมัยกลาง พระองค์เป็นหนึ่งในจำนวน 4 นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ของพระศาสนจักรตะวันตก หรือพระศาสนจักรลาติน พระองค์ได้พูด และได้เขียนหนังสือไว้มากมายเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งพระวาจาของพระเจ้า

สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้เน้นถึงความรับผิดชอบของพระสังฆราชทุกองค์ในฐานะที่เป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆ ของประชาสัตบุรุษ


คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ให้เรานบนอบเชื่อฟังพระสังฆราชซึ่งเป็นผู้นำของพระศาสนจักรท้องถิ่นในนามของพระคริสเจ้า

2. ให้เรารู้จักร่วมมือเพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมและความรักเมตตาในโลก

3. ขอให้นักบุญ เกรโกรี องค์ใหญ่ ได้สอนพวกเราให้มีจิตสำนึกรู้จักรับผิดชอบทางการเมืองด้วย

4. ขอให้ชีวิตภายในของเราได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยชีวิตทางพิธีกรรมที่ลึกซึ้ง

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลจันทบุรี