นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

ระลึกถึงวันที่ 18 ตุลาคม

ดันเต กวีมีชื่อชาวอิตาเลียนเรียกนักบุญ ลูกา ว่า “นักเขียนที่บรรยายความอ่อนโยนของพระคริสตเจ้า” นักบุญ ลูกา ถือกำเนิดที่เมืองอันติโอ๊ค และได้มีอาชีพเป็นนายแพทย์ (คส 4:14) หลังจากที่ได้กลับใจแล้ว ก็ได้กลายเป็นเพื่อนร่วมทางคอยให้บริการแก่นักบุญ เปาโล (ฟม 24:2 ทม 4: 11 ; กจ 16:10-17 ; 20-21 ; 28 ) เป็นไปได้ที่ท่านได้อยู่เคียงข้างนักบุญเปาโลในวาระสุดท้าย (ของนักบุญเปาโล) (2 ทม 4:11)
การถือกำเนิดเป็นชาวกรีกและการสืบเชื้อสายมาจากคนต่างศาสนาของท่าน รวมทั้งการร่วมงานของท่านในงานแพร่ธรรมกับนักบุญเปาโล ปรากฎให้เราเห็นบ่อยพอสมควรภายใต้ทรรศนะหลายๆ ประการด้วยกัน ทั้งในการประกาศพระวรสาร และในงานเขียนของท่าน
เนื้อหาสาระสำคัญของพระวรสารของนักบุญลูกา คือ การยอมรับชนทุกชาติไปสู่ความรอด ( ลก 3:6; 7:1-9 ; 13: 28-30 ) และการมีส่วนร่วมในพระราชัยของชนทุกชั้น ซึ่งในพระธรรมเก่าได้ถูกคัดออกให้ร่วมในจารีตพิธีมิได้ เช่น พวกคนจนน่าสงสาร พวกคนบาป พวกคนอ่อนแอ ทุพพลภาพ พวกสตรี และคนต่างศาสนา ( ลก 5:29-32 ; 7:36-50 ; 8:1-3 ; 10:21-22 ) พระวรสารของท่านทั้งหมดเป็น “การแจ้งข่าวที่น่ายินดี” คือพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ และพระองค์ทรงเป็นองค์คุณงามความดีทั้งครบ เป็นองค์ความเมตตากรุณา เป็นองค์ความอ่อนโยน และเป็นองค์ความยินดี

นักบุญลูกาได้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตและพระภารกิจของพระเยซูเจ้าเป็นเสมือน “การเดินทาง” ที่มุ่งสู่กรุงเยรูซาเลม สู่เนินกัลวารีโอ และที่สุดสู่พระเกีบรติมงคล ส่วนหนังสือ “กิจการอัครธรรมทูต” สำหรับนักบุญลูกาแล้ว เป็นเสมือน “ประวัติ (ของ) การแจ้งข่าว” ของพระศาสนจักรที่มีลักษณะเป็นธรรมทูตในโลกโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของการดลใจที่ทรงพลังของพระจิตเจ้า ท่านนักบุญได้เล่าถึงการแผ่ขยายพระวาจา และธรรมล้ำลึกแห่งพระเยซูคริสตเจ้า โดยการทำงานของบรรดาอัครธรรมทูต ของบรรดาสานุศิษย์ของพวกอนุสงฆ์ และแม้กระทั่งของพวกสัตบุรุษเอง

ก่อนอื่นหมดท่านได้เล่าถึงกิจกรรมนี้ของพระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเลมก่อน จากนั้นการแพร่ธรรมครั้งแรก ๆ ในประเทศปาเลสไตน์และบริเวณ ใกล้เคียง ต่อจากนั้นก็เป็นการแพร่ธรรมครั้งสำคัญๆ ของนักบุญเปาโล เป็นพระคริสตเจ้าเสมอที่ทำงานในตัวอัครธรรมทูต โดยอาศัยพระจิตของพระองค์ ซึ่งได้บันดาลให้สิ่งสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลก นักบุญ ลูกา เอง ซึ่งเป็นผู้เขียนกิจการอัครธรรมทูต ได้รู้สึกทึ่งและพิศวงในหมู่พวกอัครธรรมทูตที่เพิ่งออกจากห้องชุมนุมสวดภาวนา ว่าพวกท่านเหล่านั้นมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และประกอบด้วย “หัวใจเดียวและจิตใจเดียว” ( เทียบ กจ 4: 32 )

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ