นักบุญ อิกญาซิโอ ชาวอันติโอ๊ค พระสังฆราชและมรณสักขี

ระลึกถึงวันที่ 17 ตุลาคม

อิกญาซีโอ หรือเทโอโฟโร ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้นำพระเจ้าไปให้” เป็นชื่อที่ท่านอยากให้คนอื่นเรียกท่าน
นักบุญ อิกญาซีโอ ได้เป็นผู้ที่สืบตำแหน่งพระสันตะปาปาคนที่สองต่อจากนักบุญ เปโตรที่เมืองอันติโอ๊ค ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของประเทศซีเรีย ท่านได้ถูกนำมาที่กรุงโรมด้วยข้อหาว่าเป็นคริสตชน ในสมัยของจักรพรรดิ์ตรายาน โดยจะต้องถูกโยนให้สัตว์ร้ายขบกิน ท่านรู้ตัวดีว่าที่ท่านไปกรุงโรมครั้งนี้จะต้องไม่ได้กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนอีก ท่านเองรู้สึกห่วงใยและเป็นกังวลในฐานะที่เป็นผู้นำ ที่จะต้องทำให้ความเชื่อของศาสนจักรบนทางผ่าน ของท่านเข้มแข็งขึ้น ท่านจึงได้เทศน์สอนตักเตือนให้พวกเขาซื่อสัตย์ ในสิ่งที่พวกเขาได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครธรรมทูต และเมื่อได้อำลาจากพระศาสนจักรเหล่านี้แล้ว ท่านก็ได้เขียนจดหมายเจ็ดฉบับด้วยกัน ในจดหมายนั้นท่านได้ขอบคุณพวกเขา และได้พยายามสอดแทรกลักษณะนิสัยที่ร้อนรนแต่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ลงไปในจดหมายนั้นด้วย

ท่านเป็นผู้ที่หลงรักพระคริสตเจ้าเป็นที่สุด ท่านได้เน้นถึงความเป็นจริงแห่งมนุษยภาพ และพระทรมานของพระองค์ ต่อต้านกับความหลงผิดที่กำลังจะก่อตัวขึ้น และท่านเองก็รักพระศาสนจักรอย่างที่สุดด้วย โดยย้ำถึงเอกภาพของพระศาสนจักร ซึ่งตั้งอยู่บนศีลมหาสนิทที่เป็นศูนย์กลาง ( บูชามิสซา) และขึ้นอยู่กับพระฐานานุกรมของพระศาสนจักร คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ อนุสงฆ์ จดหมายของท่านที่เขียนถึงศาสนจักรที่กรุงโรมนั้น ท่านได้ชมศาสนจักรแห่งนี้ ว่าเต็มไปด้วยความรักและความโอบอ้อมอารี และท่านได้แสดงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นมรณสักขีด้วย

นักบุญ อิกญาซีโอ ได้มีความคิดทางบูชามิสซาเกี่ยวกับการเป็นมรณสักขี โดยที่ท่านแลเห็นว่าการเป็นมรณสักขีนั้น เปรียบเสมือนการยืดอายุยัญบูชาแห่งความรัก และความนอบน้อมเชื่อฟังของพระคริสตเจ้าที่ได้รับการถวายในบูชามิสซาออกไป โดยอาศัยการพลีชีวิต นักบุญ อิกญาซีโอ ปรารถนาที่จะเป็น “ปังขาวของพระคริสตเจ้า” ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงศาสนจักรที่กรุงโรม (Ad Romannos 4:1 ) ส่วนในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสตชนที่เมืองสมีร์นา ท่านได้เตือนสติพวกเขาให้ระลึกการกลับคืนชีพทางร่างกายของพระเยซูเจ้า (บทที่ 3 ) และเตือนทุกคนให้นบนอบเชื่อฟังต่อพระสังฆราช เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงนบนอบเชื่อฟังต่อพระบิดา (8:1) และในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสตชนที่เมืองเอเฟซัส ท่านได้แนะนำพวกเขา ให้พยายามรวมกลุ่มกัน เพื่อจะถวายบูชามิสซา และสรรเสริญพระเจ้าบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ ( บทที่ 13) และท่านได้วิงวอนรบเร้าพวกคริสตชนที่กรุงโรม อย่าได้ขัดขวางท่านในการที่จะเลียนแบบพระทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า ( 6:3 )
เราต้องไม่ลืมว่าการมีส่วนร่วมในบูชามิสซาทุกครั้งสำหรับเราคริสตชนแล้ว ก็คือการมีส่วนร่วมในความตาย และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้านั่นเอง

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ให้เราได้เข้าใจในค่านิยมที่ซ่อนเร้นอยู่ของการรู้จักร่วมทนทุกข์ลำบากพร้อมๆกับพระเยซูเจ้า
2. ให้เรารู้สำนึกว่าความทุกข์ยากลำบากที่เรารับทนด้วยยินดีและเต็มใจนั้น สามารถช่วยให้โลกรอดได้
3. ขอให้ความตายของเราเป็นบูชาอันสงบแห่งความรักของเราที่มีต่อพระบิดาเจ้า
4. ขอพระคริสตเจ้าโปรดรับความทุกข์ยากลำบากของพวกผู้ที่กำลังทนทุกข์ ให้เป็นผลแห่งความรอดสำหรับทุกคน

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ