7 ตุลาคม

วันฉลองแม่พระแห่งลูกประคำ

 

ในสมัยกลาง พวกที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน มักจะถวายมงกุฎดอกไม้ให้แก่พระเจ้าแผ่นดินของตน เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าตนยังจงรักภักดีอยู่ พวกคริสตชนก็ได้รับเอาขนบธรรมเนียบประเพณีนี้มาใช้เป็นเกียรติแด่พระนางมารีย์ โดยมอบ ให้พระนางซึ่ง “มงกุฎดอกกุหลาบ” 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1. มงกุฎที่ทำให้ระลึกถึงความชื่นชมยินดีของพระนาง
2. มงกุฎที่ทำให้ระลึกถึงความทุกข์โศกเศร้าของพระนาง
3. มงกุฎที่ทำให้ระลึกถึงเกียรติมงคลของพระนาง ในการที่พระนางได้มีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง

แรกเริ่มทีเดียว เราเรียกการฉลองนี้ว่า“การฉลองพระนางมารีย์แห่งชัยชนะ” ที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะว่า เป็นการเฉลิมฉลอง การที่คริสตชนได้รอดพ้นปลอดภัยจากการโจมตีของพวกตุรกี ในชัยชนะทางเรือ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1571 ที่เมืองเลปันโต ในประเทศกรีก- ปัจจุบันเรียกว่าอ่าวปาธอส

ในวันนี้เองที่กรุงโรมหลังได้รับชัยชนะ “กลุ่มพี่น้องแห่งลูกประคำ” ได้จัดให้มีการแห่แหนอย่างสง่า และพระสันตะปาปา ปีโอที่ 5 ได้ตรัสว่า “การที่คริสตชนได้รับชัยชนะในครั้งนี้ ก็เพราะพระนางมารีย์องค์ความช่วยเหลือของบรรดา คริสตชน” ต่อมาในปี 1572 ในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ทำการฉลองชัยชนะที่กรุงโรมอีก “พระนางมารีย์องค์ความช่วยเหลือของบรรดาคริสตชน” ต่อมาภายหลังก็ได้มีชัยชนะในที่อื่น ๆ เช่นที่กรุงเวียนนา ในปี 1683 และที่ปีเตอร์วาราดีโน ในปี 1716 พระสันตะปาปาเคลเมนส์ที่ 11 จึงได้ตั้งวันฉลอง “(แม่พระ) แห่งลูกประคำ (ศักดิ์สิทธิ์)” โดยให้ฉลองในวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม เวลานี้เราเรียกวันฉลองนี้ว่า “วันฉลองพระนางพรหมจารีมารีย์แห่งลูกประคำ”

ให้เราหันมาพึ่งพระนางมารีย์ โดยการรำพึงและด้วยการสวดภาวนา เพื่อวิงวอนขอพระนางได้โปรดช่วยเราให้มีส่วนในธรรมล้ำลึกแห่งชีวิต ความตาย และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าด้วยเถิด เป็นธรรมล้ำลึกที่จะทำให้การเอาตัวรอดของเราเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในการร่วมถวายบูชามิสซา และให้เราวิงวอนขอพระนางมารีย์ ซึ่งโดยอาศัยการเสนอวิงวอนของพระนาง ขอให้ธรรมล้ำลึกเหล่านี้ที่เรารำพึงในเวลาสวดลูกประคำได้สำเร็จบริบูรณ์ “ในวาระแห่งความตายของเรา” ด้วยเถิด

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ