นักบุญอันเดร ดุง-ลัก และเพื่อนมรณสักขี

ระลึกถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน

อันเดร ดุง-ลัก เป็นหนึ่งในบรรดา 117 มรณสักขีแห่ง “เวียตนาม” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1745 ถึง 1883 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพระเจ้ามินมาง (1820 – 1840) และสมัยของพระเจ้า ตู ดุ๊ก (1847 – 1883) ซึ่งต่อต้านมิชชั่นนารีชาวต่างประเทศ และได้กำหนดบทลงโทษสูงสุดสำหรับชาวเวียตนามที่นับถือศาสนาคริสต์

 

สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 2 ทรงประกาศแต่งตั้งมรณสักขีแห่ง “เวียตนาม” ทั้ง 117 ท่านให้เป็นนักบุญเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 1988 และกำหนดให้มีการระลึกถึงในพิธีกรรมวันที่ 24 พฤศจิกายน ประกอบด้วย: ธรรมทูตจากคณะโดมินิกัน 58 ท่าน ธรรมทูตจากมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส 58 ท่าน ชาวเวียดนาม 96 ท่าน ชาวสเปญ 11 ท่านและชาวฝรั่งเศส 10 ท่าน ในจำนวนนี้มีพระสังฆราช 8 องค์ พระสงฆ์ 50 องค์ ฆราวาส 59 คน (ฆราวาส 10 คนเป็นโดมินิกันชั้นสาม ครูคำสอนชาย 15 คน ครูคำสอนหญิง 1 คน ชื่อ อีเนส เล ทิ ฑั่น แต่งงานกับชายชาวนามีบุตร 7 คน ตายในคุกหลังจากที่ได้รับการทรมานเป็นเวลายาวนานในปี ค.ศ.1841)

อันเดร ดุง-ลัก เกิดในปี ค.ศ.1795 ในครอบครัวยากจนทางตอนเหนือของเวียตนาม ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ 12 ขวบ ครอบครัวของท่านได้อพยพมาตั้งตั้งหลักแหล่งที่เมืองฮานอย และได้รับศีลล้างบาปเมื่ออายุ 15 ขวบ ในนามอันเดร ดุง หลังจากท่านศึกษาภาษาจีนและลาตินสำเร็จท่านได้เป็นครูคำสอน และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่ออายุ 28 ปี

ท่านเป็นบุคคลตัวอย่างของเวียตนาม และประชาชนชาวเวียตนามหลายคนได้รับศีลล้างบาปตามท่าน ต่อมาในปี 1835 ซึ่งเป็นสมัยของพระเจ้ามินมาง ท่านได้ถูกจับกุม ถูกทรมานในข้อหาเป็นพระสงฆ์ แต่สัตบุรุษที่ท่านดูแลได้รวบรวมเงินและซื้ออิสระภาพให้ท่าน ท่านได้ลี้ภัยไปปฏิบัติกิจอยู่ที่เมืองอื่น และเปลี่ยนชื่อเป็นอันเดร ลัก อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1839 ท่านได้ถูกจับกุมอีกครั้ง พร้อมพระสงฆ์อีกท่านหนึ่งนามปีเตอร์ เทียน แต่ท่านทั้งสองก็ได้รับอิสระอีกครั้งโดยใช้เงินแลก แล้วก็ถูกจับกุมในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ท่านถูกนำตัวไปยังเมืองฮานอยและเป็นมรณสักขีโดยถูกตัดศีรษะเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1839

(แปลและเรียบเรียงโดยประกายรัตน์ พิทักษ์นิตินันท์)