นักบุญ ยุสติน
มรณสักขี
ระลึกถึงวันที่ 1มิถุนายน


นักบุญ ยุสติน  เป็นนักปราชญ์ชาวปาเลสไตน์แห่งเมืองนาบลุส ในแคว้นสะมาเรีย  ท่านเกิดจากครอบครัวของคนต่างศาสนา แต่ว่าได้พบความจริงที่ไม่มีขอบเขตจำกัดในองค์พระคริสตเจ้า ท่านได้ทำการรวบรวมความคิดต่างๆ ของคริสตศาสนาไว้ในงานเขียนของท่าน ซึ่งได้ตกทอกถึงเราเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ Apologies I-II และ The Dialogue with Trypho

ที่กรุงโรม นักบุญ ยุสติน ได้เปิดโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่ง ในโรงเรียนแห่งนี้ท่านได้จัดให้มีโต๊ะกลมสำหรับจะถกเถียงปัญหาต่างๆ ทางศาสนา ท่านได้ป้องกันพระศาสนจักรจากการโจมตีของพวกคนต่างศาสนา ซึ่งทำให้ท่านต้องหลั่งเลือดเป็นค่าความซื่อสัตย์ที่ท่านได้มีต่อพระศาสนจักร ( ค.ศ. 163 หรือ 165 ) ท่านได้เป็นกระบอกเสียงของพระศาสนจักรที่เต็มไปด้วยความห่วงใยที่จะต้องเดินหน้าไปเผชิญกับโลก และเพื่อเปิด “การเจรจา” กับโลกเพื่อจะได้นำข่าวดีของพระศาสนจักรไปให้

ในการอบรมพวกคริสตชนสำรอง   คือพวกที่กำลังต้องการจะเป็น คริสตชน นักบุญ ยุสติน ได้พยายามชี้แสดงให้พวกเขาได้แลเห็นถึงสายสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างศีลล้างบาปกับศีลมหาสนิท  ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์พิธีกรรมของมิสซา ท่านกล่าวว่าคำภาวนาของบูชามิสซา ( บทขอบพระคุณ ) เป็นการทำตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงทำสิ่งนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงเรา” โดยไม่มีการหยุดเลยตลอดระยะเวลาเป็นศตวรรษ ๆ

พระศาสนจักรเมื่อต้องการที่จะปฏิรูปปรับปรุงบูชามิสซาเสียใหม่ ได้คำนึงถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้รับจากพระคริสตเจ้า และต้องการที่จะถ่ายทอดให้สัตบุรุษตามที่ควรจะต้องเป็น ทั้งต้องการที่จะสร้าง “กลุ่มสัตบุรุษ” ( เทียบ PO 6 ) รอบๆ โต๊ะศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยบูชามิสซานี้ด้วย

ทุกวันนี้มีความต้องการที่จะสร้างและหารูปแบบใหม่สำหรับการอบรมพวกคริสตชนสำรองที่ต้องการจะมาสู่ความเชื่อ  และสำหรับพวกที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว พวกเขาต้องทำให้ความเชื่อนี้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่และเจริญชีวิตความเชื่อนี้  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นที่จะต้องนำเอาพระวรสารของพระเยซูเจ้ามาใช้ให้ถูกต้อง และนำเอาการอภิบาลสัตบุรุษอันมุ่งที่จะสร้าง “กลุ่มสัตบุรุษ” ให้เป็นแบบคริสตชน เปิดกว้าง มีอัธยาศัยไมตรี เต็มไปด้วยใจร้อนรน มีความรักใคร่กันฉันท์พี่น้อง  ที่จะมาช่วยสนับสนุนการกลับใจอย่างแท้จริงของพวกคริสตชนสำรองใหม่ ทั้งเป็นการเป็นพยานยืนยันที่เป็นตัวอย่างอันดีงามสำหรับสมาชิกทุกคนด้วย ถ้าหากว่าขาดสิ่งนี้ก็จะทำให้ผู้ที่ได้กลับใจแล้วส่วนใหญ่ไม่ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อและในการประกอบคุณงามความดีได้ดีเท่าที่ควร

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ

1. ขอให้เราได้สร้างกลุ่มคริสตชนที่ร่วมกันถวายบูชามิสซาด้วยความจริงใจ
2. ให้เราได้ช่วยกันสร้าง “กลุ่มคริสตชน” ของชีวิต ความเชื่อและการเคารพนมัสการ
3. ขอให้เราได้เปิดหัวใจของเราและยื่นมือช่วยเหลือบรรดาพี่น้องของเรา
4. ขอให้เราได้ช่วยกันสนับสนุนพยุงความเชื่อและความหวังของบรรดาพี่น้องของเราด้วย

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ