นักบุญบอนา แวนตูรา

พระสังฆราชและนักปราชญ์ (1221-1274)

ระลึกถึงวันที่ 15 กรกฎาคม

ยอวันนีดี ฟีดันซา เกิดที่เมืองบาโญเรจีโอ ( วีแตร์โบ ) เมื่อปี 1221

เวลาเป็นเด็ก ท่านได้ล้มเจ็บลง แต่นักบุญฟรังซิส อัสซีซี ได้ช่วยรักษาให้หาย ทั้งได้อุทานว่า “โอ บอนา แวนตูรา” และคำอุทานของนักบุญฟรังซิสนี้ได้กลายมาเป็นชื่อของท่านในเวลาต่อมา และท่านก็ได้เป็น “บอนา แวนตูรา” หรือผู้นำโชคให้พระศาสนจักรจริงๆ เสียด้วย

ท่านได้เข้าเป็นนักบวชคณะฟรังซิสกัน ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาปรัชญาและเทววิทยาที่กรุงปารีส แ ละได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นหลายปี ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นอธิการใหญ่ของคณะ ซึ่งท่านก็ได้จัดระเบียบการปกครองคณะด้วยความชาญฉลาดยิ่ง จนท่านได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้ตั้งคณะและบิดาคนที่สอง” ซึ่งพูดกันตามจริงแล้วนักบุญฟรังซิสไม่ได้ทิ้งอะไรที่เป็นธรรมนูญการปกครองคณะเอาไว้ให้เลย

เพื่อให้ท่านได้อยู้ใกล้ๆ กรุงโรม พระสันตะปาปาจึงทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระสังฆราชของเมือง อัลบาโน และให้เป็นพระคาร์ดินัลด้วย โดยท่านได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตระเตรียมการประชุมสภาสังคายนาแห่งเมืองลีอองส์ (ในประเทศฝรั่งเศส ) ครั้งที่ 2 เพื่อเอกภาพของพระศาสนจักรลาตินและพระศาสนจักรกรีก

เทววิทยาของนักบุญบอนาเวนตูรา เป็นการดำเนินตามรอยความคิดของนักบุญออกัสติน แต่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางซึ่งได้ช่วยให้เทววิทยาของตะวันออกสามารถเข้าใจท่านได้ดีขึ้น พระสังคายนาได้เปิดประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคม 1274 และในวันที่ 28 มิถุนายนก็ได้บรรลุถึงข้อตกลงสำหรับเอกภาพของพระศาสนจักร ( แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะต่อมาข้อตกลงนี้ได้ถูกทำลายเสีย )

นักบุญบอนาแวนตูรา ได้สิ้นใจในวันที่ 15 กรกฎาคม โดยมีพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 10 เฝ้าดูท่านอยู่ขณะที่ท่านกำลังสิ้นใจ และไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นนักบุญโทมัสซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่านก็ได้ล่วงหน้าจากท่านไปก่อนแล้ว

นักบุญบอนาแวนตูรา เป็นคนที่ทำงานจริงจัง ทั้งเก่งในการปกครอง ท่านเป็นคนที่ลงมือปฏิบัติจริงๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นคนชอบคิดด้วย ท่านเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคงและเป็นคนที่น่ารัก เห็นอกเ ห็นใจผู้อื่น ท่านได้แลเห็นว่าศิลปะ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยาและประวัติศาสตร์นั้นไปด้วยกันได้ นานๆครั้งเราจึงสามารถพบในบุคคลเดียวกันที่วิทยาศาสตร์และความเชื่อไปด้วยกันได้ด้วยดีถึงเพียงนี้

นักบุญบอนาแวนตูรา เป็นนักเพ่งฌานที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะได้รับเกียรติว่าเป็น “นักปราชญ์ชั้นเซราฟิม”

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัต
1. ให้เราได้ตั้งเป้าหมายในกิจการทุกอย่างของเรา ให้เป็นไปเพื่อพระเกียรติมงคลของพระบิดาโดยอาศัยพระคริสตเจ้า
2. ก่อนอื่นขอให้เราได้เป็นเพื่อนมนุษย์แบบคริสตชนกับทุกๆคน
3. ข้าแต่พระคริสตเจ้า โปรดประทานความรู้และความเชื่อให้แก่ทุกๆคนด้วยเถิด
4. ขอให้เราได้สวดและทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอกภาพของคริสตชนทุกคน

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ