นักบุญโธมัส อัครสาวก

ฉลองวันที่ 3 กรกฎาคม


โธมัส ในภาษาอารามัยหมายความว่า “คู่แฝด” และด้วยเหตุนี้เองที่นักบุญ ยอห์น อัครธรรมทูต เรียกท่านเป็นภาษากรีกว่า “ดิดิม” ( ยน 11:16 ; 20:24 )

ผู้นิพนธ์พระวรสาร 3 ท่านแรกคือ นักบุญมัทธิว, นักบุญมาระโก, และนักบุญลูกา พอใจที่จะนับนักบุญโธมัสให้อยู่ในจำนวนอัครธรรมทูตสิบสององค์ ( มธ 10: 3 ; กจ 1:13 ) ตรงข้ามกับนักบุญยอห์นซึ่งพระวรสารของท่านจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปคือ การที่มนุษย์จะยอมรับรู้หรือว่าจะไม่ยอมรับข่าวสารของพระคริสตเจ้า ดังนั้นดูเหมือนว่านักบุญยอห์นจะให้ความสำคัญมากในพระวรสารของท่าน ที่จะแสดงให้เห็นถึงปฎิกิริยาที่บรรดาอัครธรรมทูตได้แสดงออกในชีวิตประจำวัน โดยนัยนี้นักบุญยอห์นจึงถือว่านักบุญโธมัสเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเป็นคนเชื่อยากของบรรดาอัครธรรมทูต คือนักบุญโธมัสสามารถเล็งเห็นความยากลำบาก และภัยอันตรายที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสู่กรุงเยรูซาเลม โดยที่ท่านไม่เข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของการเดินทางนี้ ( ยน 11:16 ) และอาจจะเป็นเพราะความจริงใจของท่านที่ท่านเองไม่รู้สึกจะมีความกระตือรือร้นในทรรศนะต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นในสุนทรพจน์ระหว่างการรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ( ยน 14:1-6 )

ดังนั้นหลังจากที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว ท่านก็อยากจะทดลองดูว่า พระองค์ทรงเป็น พระคริสตเจ้าจริงๆ หรือไม่ โดยอาศัยการสัมผัสพระองค์ ทั้งๆ ที่เวลานั้นต้องอาศัยความเชื่อในการรู้จักพระเยซูคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว ( ยน 20:24-29 ) แต่ว่าไม่กี่วันให้หลังขณะที่ท่านได้อยู่พร้อมๆ กับบรรดาอัครธรรมทูตองค์อื่นๆ ท่านเหล่านี้ได้รู้จักพระ คริสตเจ้าผู้ได้กลับคืนชีพแล้ว ส่วนท่านเองเพิ่งจะสามารถรู้จักพระองค์ แต่ท่านก็ได้ยืนยันความเชื่อที่น่าทึ่งมาก

“องค์พระเจ้าของข้าพเจ้า และพระเผู้ป็นเจ้าของข้าพเจ้า” ( ยน 20:28 )

ในชีวิตของนักบุญโธมัสเปรียบเสมือนการเดินทางที่ยาวนานที่ผ่านจากความจริงใจตามประสามนุษย์ ไปสู่ความรู้ในพระจิตเจ้า

เราไม่รู้ถึงสภาพแวดล้อมของงานธรรมทูตของท่าน หลังจากที่บรรดาอัครธรรมทูตได้ทรงรับพระจิตแล้ว น่าจะเป็นไปได้ที่ท่านได้เดินทางข้ามพรมแดนของอาณาจักรโรมัน มุ่งหน้าไปสู่เปอร์เซียและอินเดีย แต่ว่าธรรมประเพณีในสมัยกลาง มักจะยกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ส่วนใดส่วนหนึ่งให้กับอัครธรรมทูตองค์ใดองค์หนึ่ง อันเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตามบรรดาอัครธรรมทูตมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการแพร่ธรรมไปทั่วทุกมุมโลก เพราะว่าได้รับคำสั่งจากพระเยซูเจ้า

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ให้เราได้แสดงออกซึ่งความเชื่อของเราในองค์พระคริสตเจ้า โดยกล่าวว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
2. ในท่ามกลางความชื่นชมยินดี และในการทดลอง ก็ขอให้เราได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
3. ให้เรากล่าวสำหรับคนที่ไม่เชื่อเช่นเดียวกันว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
4. ให้เราประกาศพระวรสารด้วยคำกล่าวอันเดียวกันนี้ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลจันทบุรี