บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์
ระลึกถึงวันที่ 12 มกราคม

คุณพ่อนิโคลาสเกิดวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1895 รับศีลล้างบาปวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1895 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐุม ได้รับชื่อนักบุญศีลล้างบาปว่า “เบเนดิกโต” เป็นบุตรคนโตของยอแซฟ โปฉัง และอักแนส เที่ยง มีพี่น้อง 5 คน ผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 3 คน

เข้าบ้านเณรเล็กบางช้างในปี ค.ศ. 1908 เรียนที่บ้านเณรบางช้างเป็นเวลา 8 ปี เป็นครูสอนหนังสือตามวัดอีก 4 ปี ต่อจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่บ้านเณรใหญ่ปีนังอีก 6 ปี ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่วัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 4 องค์

เมื่อบวชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกจนถึงปี ค.ศ.1928 ปี ค.ศ.1929 ได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ที่วัดพิษณุโลก กับคุณพ่อมิราแบล ช่วยสอนภาษาจีนและภาษาไทยให้กับคุณพ่อมิราแบล เพราะที่นั่นมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คุณพ่อทั้งสองได้ช่วยกันรวบคริสชนชาวจีน เมื่อเห็นว่ามีจำนวนมากขึ้นจึงตัดสินใจสร้างวัดใหม่แทนวัดน้อยหลังเดิม ซึ่งคุณพ่ออังเดร พลอย เคยสร้างไว้ก่อน

ปี ค.ศ. 1930 คุณพ่อมิราแบลขึ้นไปบุกเบิกที่เชียงใหม่ และให้คุณพ่อนิโคลาสไปอยู่ที่ลำปาง คุณพ่อนิโคลาสได้สร้างวัดน้อยหลังแรกที่ลำปางในปี ค.ศ. 1930 ได้ไปสอนคำสอนตามบ้าน และได้ส่งซินแสไปสอนศาสนาที่เมืองพานและเชียงรายด้วย ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรน และยอมเสียสละตนเองเพื่อการประกาศพระวรสาร สามารถเทศน์หรือสอนคำสอนตลอดวันโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็ฯเรื่องการทำมิสซาหรือการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของบรรดาคริสตชน ปี ค.ศ. 1933 คุณพ่อมิราแบล และคุณพ่อนิโคลาสได้ตัดสินใจเดินทางไปพม่าเพื่อสำรวจพื้นที่และความเป็นไปได้ในการขยายมิสซัง

ปี ค.ศ. 1937 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโคราช ท่านเอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางด้านวิญญาณ ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีพรสวรรค์ในการเทศน์ และเทศน์ได้น่าฟัง ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังบทเทศน์ของท่านต่างก็รู้สึกประทับใจ ท่านยังเอาใจใส่คริสชนที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในที่ห่างไกล ไม่มีพระสงฆ์ไปดูแลประจำ หรือบางกลุ่มก็ยังไม่วัด ท่านเป็นห่วงวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น อย่างเช่น ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีสัตบุรุษคริสตังบางครอบครัวอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีวัดและไม่มีพระสงฆ์ไปประจำ ท่านได้ไปเยี่ยมสัตบุรุษเหล่านี้ เพื่อให้เขาเตรียมตัวรับศีลในโอกาสปัสกา

ปี ค.ศ. 1938 ท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโนนแก้ว นอกจากการเผยแพร่พระวรสารให้คนกลับใจแล้ว ท่านยังเอาใจใส่คริสตังทั้งทางด้านวิญญาณและด้านร่างกาย ท่านได้ช่วยเหลือคริสตังในเรื่องการทำมาหากิน โดยเฉพาะคนยากจน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นคริสตังหรือไม่ แม้แต่คนต่างศาสนาที่มาขอความช่วยเหลือท่านก็ช่วยด้วยความเมตตา

ปี ค.ศ.1939 ไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ทางราชการและคนไทยชาตินิยมมีความคิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส ดังนั้นพวกเขาจึงกลัวว่าพวกคริสต์จะพากันเข้าข้างฝรั่งเศส ทางราชการได้เริ่มสั่งปิดโรงเรียนคาทอลิก และพยายามทำให้พวกคริสตังละทิ้งศาสนา นักเรียนต้องไปเรียนที่โรงเรียนพุทธ มีคำสั่งจากกรมตำรวจเรียกชาวฝรั่งเศสทุกคนที่อยู่ในจังหวัดภาคอีสาน และตะวันออกของประเทศไทยออกจากจังหวัดนั้น โดยด่วนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และในจังหวัดดังกล่าว คนเชื้อชาติฝรั่งเศสจะอยู่หรือผ่านไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจ บรรดามิสชันนารีชาวฝรั่งเศสต้องเดินทางเข้ามาอยู่ในพระนคร เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนเป็นพระสงฆ์ไทยชั่วคราว พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสบางองค์ถูกทำร้ายร่างกาย มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะเลือดไทย” จากจังหวัดต่าง ๆ คอยทำการต่อต้านศาสนา ออกใบปลิว, จดหมาย ให้คนไทยที่นับถือศาสนาคาทอลิกเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ห้ามทำกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาคาทอลิกทั้งสิ้น

สมัยนั้นพระสงฆ์ไทยเข้าเงียบประจำปีเวลาค่ำของวันจันทร์หลังวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในปีนั้นตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ค.ศ.1941 คุณพ่อนิโคลาสออกจากโนนแก้ว ถึงโคราชวันที่ 10 มกราคม เพื่อรับคุณพ่อเลโอนาร์ด สิงหนาท ผลสุวรรณ เข้ากรุงเทพฯ ด้วยกัน แต่คุณพ่อเลโอนาร์ดได้ฟังวิทยุรายการ “สนทนาของนายมั่น-นายคง อันเป็นรายการที่หว่านความหวาดกลัวลงสู่จิตใจหมู่คริสตังทั่วประเทศ ท่านจึงตกใจกลัวหนีไปหาที่หลบภัยที่วัดหัวไผ่ คุณพ่ออัมบรอซิโอก็ไม่อยู่ ดังนั้น เย็นวันที่ 11 มกราคม คุณพ่อนิโคลาส จึงย่ำระฆังที่วัดบ้านหัน เรียกคริสตังมาสวดภาวนาค่ำ และแจ้งให้คริสตังมาฟังมิสซาในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันอาทิตย์และเป็นวันฉลองพญาสามองค์ ในระหว่างที่กำลังสวดภาวนาอยู่ มีสมาชิกเลือดไทยคนหนึ่งขึ้นไปบนพุ่มไม้ใกล้หน้าต่าง คอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพวกคริสตัง ขณะที่คุณพ่อนิโคลาสกำลังก่อสวดบทเร้าวิงวอนแม่พระ และสัตบุรุษก็ตอบรับว่า “ช่วยวิงวอนเพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายนี้เถิด” ตามบทสวดลิทาเนีย สมาชิกเลือดไทยคนนั้นได้ไปรายงานแก่นายอำเภอสีคิ้วและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คุณพ่อนิโคลาสก่อสวดออกชื่อใครต่อใครก็ไม่ทราบ แต่ให้พวกคริสตังรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอให้ฝรั่งเศสชนะไทยนี้เถิด”

วันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1941 คุณพ่อนิโคลาสจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมพร้อมกับหัวหน้าครอบครัวคริสตังจำนวน 9 คน ในข้อหา “กบฎภายนอกราชอาณาจักร” คุณพ่อนิโคลาสถูกตัดสินจำคุก 15 ปี พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายถึงหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจเพื่อชี้แจงว่าคุณนิโคลาสไม่มีความผิด ท่านถูกคนเกลียดชังใส่ความว่าเป็นแนวที่ห้า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีความผิดเลย ขอให้พิจารณาความและปล่อยตัวตามข้อ 13 แห่งรัฐธรรมนูญ

คุณพ่อนิโคลาสได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชแปร์รอสด้วยลายมือของท่านเองจากเรือนจำกลางบางขวาง บอกว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมีความอดทนก็คือการสวดภาวนา สวดสายประคำ และบทสวดตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวด ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ท่านก็ขอน้อมรับโทษอันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความบาป ท่านยังได้สวดขอพระให้ยกโทษให้กับผู้ที่กล่าวหาและทำร้ายท่านอีกด้วย

ตลอดเวลาที่อยู่ในคุกท่านได้รับความลำบากมาก ห้องขังสกปรกคับแคบไม่มีอากาศถ่ายเท อยู่กันอย่างแออัด แต่ท่านก็ไม่เคยบ่นถึงความลำบาก ท่านมีความอดทนและคอยให้กำลังใจพวกที่ถูกจับด้วยกัน นอกจากนี้ท่านยังได้สอนคำสอนให้กับนักโทษ ทั้งที่เป็นคริสตังและที่เป็นคนต่างศาสนา เมื่อมีคนมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ ท่านก็แบ่งปันให้กับนักโทษคนอื่นๆ ด้วยความเมตตา การที่ท่านถูกขังอยู่ในห้องขังที่สกปรก อากาศไม่ดี ท่านจึงป่วยและถูกนำตัวไปตรวจ ทางเรือนจำแจ้งให้ทราบว่าท่านป่วยเป็นวัณโรค และแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนโรคปอด อยู่รวมกับนักโทษที่ป่วยเป็นวัณโรค ท่านได้สอนคำสอน และช่วยดูแลนักโทษที่ป่วย ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่นักโทษ โดยเฉพาะคนใกล้จะตายจำนวน 68 คน

ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1944 ที่เรือนจำกลางบางขวาง เนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรก ซึ่งเป็นวัดพุทธที่อยู่ใกล้กับเรือนจำ ประมาณ 2 เดือนต่อมา พระสังฆราชแปร์รอสได้ให้ญาติพี่น้องของท่านไปขุดศพมาจากวัดบางแพรก เพื่อนำมาฝังไว้ในอุโมงค์ใต้พระแท่นวัดอัสสัมชัญ ผู้ที่ไปขุดศพเล่าว่าศพของท่านถูกฝังอยู่ในดิน ซึ่งขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคุดคู้ ไม่มีโลง ไม่มีอะไรห่อศพ เนื้อหนังและเส้นผมอยู่ แต่ไม่มีกลิ่น

คุณพ่อนิโคลาสได้รับการสถาปนาให้เป็นบุญราศีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ค.ศ.2000 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ