นักบุญสเตเฟน มรณสักขีองค์แรก
ฉลองวันที่ 26 ธันวาคม

ในพระศาสนจักรของพวกอัครธรรมทูต เด็กหนุ่มสเตเฟนเป็นเหมือนดวงไฟของพระจิต นักบุญลูกาได้เล่าให้เราฟังถึงสภาพแวดล้อมของการเมืองนักบุญสเตเฟนให้เป็นอนุสงฆ์ (กจ 6:1-6) ว่า เนื่องจากในพระศาสนจักรในสมัยเริ่มแรกนี้ได้มีความตึงเครียดระหว่างคน 2 กลุ่ม คือ พวกนี้มีพื้นเพเดิมอยู่ในประเทศปาเลสไตน์พวกหนึ่ง และพวกที่มาจากนอกประเทศปาเลสไตน์(Diaspora) อีกพวกหนึ่ง ความตึงเครียดนี้ก็เสี่ยงที่จะทำให้แต่ละกลุ่มขังตัวเองปิดตายไม่ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน บรรดาอัครธรรมทูตรู้ตัวเองดีว่าตนมีหน้าที่ในการสร้างเอกภาพ และคอยเชื่อมประสานรอยร้าวของการแตกแยก (รม 15:20; 1 คร 3:10; 12:28; วว 21:14) จึงได้มอบหน้าที่ให้กับพวกอนุสงฆ์ให้เป็นคนคอยจัดการเรื่องต่าง ๆ และมีหน้าที่เทศน์สอนด้วย พวกอนุสงฆ์ทั้ง 7 องค์นี้มีเชื้อสายเป็นชาวกรีก จึงถือได้ว่า เป็นการช่วยถ่วงดุลย์อำนาจของพวกอัครธรรมทูตทั้ง 12 ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวปาเลสไตน์

นักบุญสเตเฟน ไม่ได้จำกัดหน้าที่ของตนเฉพาะในเรื่องการให้บริการในเรื่องกิจการเมตตาเท่านั้น ท่านได้ลงมือประกาศพระวาจาของพระเจ้าด้วยตนเองอีกด้วย หนังสือกิจการอัครธรรมทูตได้บันทึก “สุนทรพจน์” ของท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบทความของคริสตศาสนาบทแรก ที่สื่อความหมายสัมพันธ์บทนี้อาจจะเป็นรูปแบบของบรรดาผู้ประกาศ พระวรสารรุ่นแรกๆ ด้วย

นักบุญสเตเฟน นอกจากจะเป็นอนุสงฆ์และผู้ป้องกันศาสนาคนแรกแล้ว ท่านเป็นมรณสักขีองค์แรกของพระศาสนจักรอีกด้วย อันที่จริงเพราะความมีใจร้อนรนของท่านนั่นเอง ที่พวกผู้ฟังไม่สามารถทนต่อการว่ากล่าวโจมตีของท่านแม้ในโรงธรรมของพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามกันชัดๆ

เรื่องเล่าถึงการทรมานของนักบุญสเตเฟน ที่นักบุญลูกาได้เล่าให้เราฟังนั้น เป็นการถอดแบบมาจากเรื่องเล่าถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับพระอาจารย์เจ้าขณะที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ นักบุญสเตเฟนก็ได้ให้อภัยแก่พวกเพชฌฆาตด้วย

ความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนอยู่ที่การเลียนแบบพระคริสตเจ้าอย่างจริงจังในชีวิตของเขา และการระลึกถึงนักบุญก็เป็นอันเดียวกัน กับการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. เช่นเดียวกับนักบุญสเตเฟน ให้เราได้ประกาศพระวาจาพระเจ้าด้วยใจรัก
2. ให้เราได้มีส่วนร่วมกับพระศาสนจักรในการช่วยเหลือคนยากจน