ระลึกถึงบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย
ระลึกถึงวันที่ 16 ธันวาคม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989/พ.ศ.2532 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร ที่กรุงโรมสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงประกาศเป็นทางการ “บันทึกนามมรณสักขีไทยทั้ง 7 ท่าน เข้าทำเนียบบุญราศี” หลังจากนั้น ที่วัดแม่พระไถ่ทาสสองคอนเอง พระศาสนจักรแห่งประเทศไทยก็ได้จัดสมโภชอย่างมโหฬาร ระหว่างวันที่ 6 - 10 ธันวาคม พ.ศ.2532

วัดสองคอนเมื่อปี ค.ศ.1940 (2483) มีคุณพ่อเปาโล ฟีเกต์ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราช แกว็ง ให้มาดูแลคริสตชน ตั้งแต่ปี 1925 รวมเวลาได้ประมาณ 15 ปีเศษ

คุณพ่อฟีเกต์ มีบุคคล 3 ท่านที่ช่วยเหลือในการอภิบาลสัตบุรุษ คือ ซิสเตอร์อักแนส และซิสเตอร์ลูซีอา กับฆราวาส 1 ท่าน คือ ครูสีฟอง ชีวประวัติโดยย่อของแต่ละท่านมีดังนี้

1. ซิสเตอร์อักแนส (1909 - 1940) เดิมชื่อ มาร์การิตา พิลา (สุภีร์) ทิพสุข เป็นบุตรสาวของ โยอากิม สอน และอันนา จูม เกิดที่บ้านนาฮี เมื่อวันพฤหัส เดือนมิถุนายน 6, 1909 ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านเวียงคุก ซึ่งเป็นหมู่บ้านคริสตัง ในเขตจังหวัดหนองคาย

หลังจากรับศีลล้างบาปได้ไม่นาน คุณพ่ออันตน หมุน ได้มองเห็นแววชีวิตนักบวชของพิลา จึงได้ออกปากให้เข้าอารามที่เชียงหวาง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1928 ท่านได้ปฏิญญาณตนเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้า ใช้ชื่อว่า “ซิสเตอร์ อักแนส พิลา” ท่านได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่สองคอนในปี ค.ศ. 1932

2. ซิสเตอร์ลูซีอา (1917 - 1940) เดิมชื่อ ลูซีอา คำบาง เป็นบุตร สาวของยากอบ ดำ และมักดาเลนา สี เกิดที่บ้านเวียงคุก ได้เข้าอารามที่เชียงหวาง และถวายตัวเป็นซิสเตอร์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1937 ได้รับชื่อว่า “ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง” หลังจากถวายตัวแล้วก็ได้ไปประจำที่บ้านสองคอนในปี ค.ศ. 1938

3. ครูสีฟอง มีชื่อเต็มว่า ฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ เกิดวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1907 ที่วัดนักบุญอันนา หนองแสง จังหวัดนครพนม
เมื่อเติบโตขึ้น สีฟองเข้าเรียนทีโรงเรียนวัดหนองแสง เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้ไปเรียนต่อที่บ้านเณรพระหฤทัยบางช้าง จ.สมุทรสงคราม ท่านมาถึงสองคอนประมาณปี ค.ศ. 1926 นอกจากจะสอนเรียนแล้ว ท่านยังสอนให้ชาวบ้านรู้จักตัดเย็บเสื้อผ้า ช่วยดูแลวัด ตลอดจนสอนคำสอน ท่านถูกห้ามไม่ให้สอนคำสอน และให้ละทิ้งศาสนาคาทอลิก แต่ครูสีฟองไม่ยอมละทิ้งศาสนา และยังคงสอนคำสอนต่อไป ท่านจึงถูกฆ่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1940 เป็นมรณสักขีองค์แรก

มรณสักขีองค์ที่ 2 - 7

ตำรวจให้ผู้ใหญ่บ้านมาตามซิสเตอร์ไปพบที่วัด เมื่อพบกัน ตำรวจถามซิสเตอร์ว่า “ได้ละทิ้งพระเจ้า ทิ้งศาสนาแล้วหรือยัง?” ซิสเตอร์ทั้งสองตอบว่า “ไม่มีวัน จะไม่มีวันทิ้งพระเจ้าโดยเด็ดขาด” ตำรวจจึงว่า เมื่อไม่ทิ้งพระเจ้า ไม่กลัวตาย ให้ทุกคนไปที่แม่น้ำโขงเดี๋ยวนี้ จะจัดการ

ซิสเตอร์อักแนส พิลา แย้งว่า “จะไม่ไปที่แม่น้ำโขง ถ้าจะฆ่าพวกเรา ขอให้ไปฆ่าที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ (คือป่าช้าของวัด)

ตำรวจโกรธ พูดตัดบทว่า “ไม่ต้องมาพูดมาก ไปป่าศักดิ์สิทธิ์ก็ได้”

คณะผู้ยอมพลีชีพทั้ง 8 คือ

1. ซิสเตอร์อักแนส พิลา
2. ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง
3. นางอากาทา พูดทา
4. น.ส.เซซีลีอา บุดสี ว่องไว
5. น.ส.บีบีอานา อำไพ ว่องไว
6. ด.ญ.มารีอา พร ว่องไว
7. น.ส.เซซีลีอา สุวรรณ
8. ด.ญ.เซซีลีอา สอน ว่องไว

ได้ออกเดินทางมุ่งไปยังป่าศักดิ์สิทธิ์ ระยะทางจากวัดถึงป่าศักดิ์สิทธิ์ประมาณ 300 - 400 เมตร ทุกคนเดินไปพร้อมกับสวดภาวนาและร้องเพลงไปด้วย ไม่มีการสะทกสะท้านใด ๆ พวกตำรวจแบกปืนเดินตามไปห่างๆ

ขณะที่คณะผู้ยอมพลีชีพทั้ง 8 คน กำลังเดินอยู่ นายกองสี บิดาของน.ส.สุวรรณ สงสารบุตรสาวของตน รีบตามมาพาตัวกลับบ้าน บอกว่ายังไม่ถึงเวลาไปตาย

ด.ญ.เซซีลีอา สอน ว่องไว ผู้อยู่ในคณะผู้ยอมพลีชีพเล่าว่า เมื่อถึงป่าศักดิ์สิทธิ์เห็นขอนไม้ใหญ่ล้มทอดอยู่ต้นหนึ่ง ซิสเตอร์อักแนส พิลาพูดว่า “ขอนไม้นี้แหละเหมาะดี พวกเราอาศัยขอนไม้นี้เป็นที่คุกเข่าสวดก่อนตายกันเถิด”

ทุกคนคุกเข่าลงข้างขอนไม้เรียงกันไปตามลำดับ ซิสเตอร์อักแนส พิลา, ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง, แม่พุดทา, น.ส.บุดสี, น.ส.คำไพ, ด.ญ.พร, ด.ญ.สอน อยู่ริมในสุด แล้วสวดพร้อมกัน

เมื่อพวกตำรวจมาถึง ตำรวจบอกให้คณะของซิสเตอร์เตรียมตัว แล้วเริ่มยิงทางด้านหลังทันที แต่ปืนไม่ลั่น จึงเปลี่ยนมายิงทางด้านหน้า แต่ปืนไม่ลั่นอีก ตำรวจจึงเปลี่ยนเอาปืนจากตำรวจอีกนายหนึ่งขึ้นมายิง เสียงปืนลั่นขึ้น พวกตำรวจยิงประมาณ 20 นัด เข้าใจว่าทุกคนตายแล้วจึงเดินกลับที่พัก นายสาลีเข้าไปดู เห็นถูกกระสุนปืน 6 คน มี ด.ญ.สอนคนเดียวไม่ถูกกระสุนปืนเลย ชาวบ้านได้ขุดหลุมฝังรวม 3 หลุม ฝังหลุมละ 2 ศพ

ซิสเตอร์ทั้งสองและคณะได้บรรลุสมปรารถนาที่จะตายเพื่อยืนยันความเชื่อ พวกเขาได้หลั่ง เลือดทาผืนแผ่นดินไทย เป็นการประกาศให้ทุกคนได้ทราบว่า พวกเขามีและนับถือพระเจ้า องค์ปฐมแห่งสรรพสิ่ง พระองค์ผู้ประทานชีวิตแก่โลกและมนุษย์ พระองค์ผู้ทรงดูแล ช่วยเหลือ และเมตตาชาวเรา พวกเขาได้รับชีวิตมาแต่พระองค์ เขาก็พร้อมที่จะถวายชีวิตนั้นคืนแด่พระองค์ ความตายมิได้ทำให้พวกเขาหวั่นไหวที่จะปฏิเสธพระองค์เลย


ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ