นักบุญ อัมโบรซีโอ พระสังฆราชและนักปราชญ์
ระลึกถึงวันที่ 7 ธันวาคม

นักบุญ อัมโบรซีโอ เกิดที่เตรวีรีจากครอบครัวคริสตชนชาวโรมัน ท่านได้ศึกษาอบรมที่กรุงโรม และได้เป็นข้าหลวงของแคว้นลีกูเรียและแคว้นเอมีเลีย ขณะที่ท่านได้เดินทางไปเมืองมิลานเพื่อป้องกันมิให้เกิดการจลาจล ระหว่างพวกคาทอลิกและพวกนิยมอารีอุสในการเลือกพระสังฆราชของตนประชาชน ได้โห่ร้องและประกาศแต่งตั้งท่านให้เป็นพระสังฆราชของพวกเขาแบบไม่ให้รู้ตัวมาก่อน ขณะท่านยัง เป็นคริสตชนสำรองอยู่ (=กำลังอยู่ในระยะเวลาที่เตรียมตัวรับศีลล้างบาป)

อัมโบรซีโอได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช 8 วันให้หลัง คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 374 และ ได้แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนายชุมพาบาลที่แท้จริง ท่านได้ต่อสู้กับพวกนอกรีต เป็นต้น พวกที่นิยมอารีอุสและได้ต่อสู้กับการแบ่งแยกในสังคมอีกด้วย ท่านเป็นบิดาของคนยากจนและคอยให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง ท่านไม่กลัวที่จะพูดคัดค้านวุฒิสภา จักรพรรดิเทโอโดซีอุสเองด้วย ท่านเป็นนายชุมพาบาลที่เปี่ยมไปด้วยพลังและเข้มแข็งมั่นคง ท่านไม่ได้เก่งเฉพาะในการเทศน์สอนเท่านั้น ยังเก่ง ในการปฏิบัติอีกด้วย นอกนั้นท่านยังเป็นนักปกครองและนักจัดการที่ดีอีกด้วย

ในเรื่องของการอภิบาลสัตบุรุษ ท่านมีความคิดอ่านที่แจ้งชัดและเป็นผู้ที่ไม่กลัวอุปสรรคใดๆทั้งสิ้นแต่ก็แฝงไว้ด้วยความโอบอ้อมอารีและความรัก ท่านได้พยายามส่งเสริมให้มีการบ้านการเมืองแบบคริสตชนจริงๆ นอกนั้นท่านยังได้เรียกร้องให้พระศาสนจักรได้มีเสรีภาพในการจัดการเรื่องต่างๆ ภาย ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของตนโดยที่ไม่ยอมให้อำนาจทางบ้านเมืองเข้ามามีอิทธิพล

นักบุญอัมโบรซีโอ ได้ทำการปฏิรูปเรื่องพิธีกรรม ซึ่งต่อมาได้เรียกว่า “พิธีกรรมของนักบุญอัมโบรซีโอ” ท่านได้แต่งบทเพลงศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ขับร้องในพิธีกรรมอีกด้วย ท่านได้เป็นธรรมทูตของกิจการกุศลที่แท้จริงคือใครไม่ว่าที่ต้องการให้ท่านช่วยเหลือไม่ว่าในเรื่องใด สามารถไปขอความช่วยเหลือจากท่านได้เสมอบางครั้งท่านถึงกับต้องนำเอาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ไปขายเพื่อที่จะนำเงินที่ขายได้นั้นไปไถ่พวกทาส โดยบอกว่า “ถ้าหากว่าพระศาสนจักรมีเงินมีทอง ก็มีไว้มิใช่สำหรับคอยเฝ้าดูแลรักษา แต่มีไว้สำหรับให้ทานแก่ผู้ที่มีความต้องการ” (De Officiis, II , 136)นักบุญ อัมโบรซีโอ ได้มีส่วนช่วย ให้นักบุญออกัสตินได้กลับใจ และกลับมาสู่พระศาสนจักรโดยอาศัยคำเทศน์สอนของท่าน เคล็ดลับของความสำเร็จในการเทศน์สอนของท่านอยู่ที่การรู้จักนำเอาพระคัมภีร์มารำพึง และศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง ท่านเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในจำนวน 4 องค์ของพระศาสนจักรลาติน และท่านเป็น “อาจารย์แห่งชีวิต” ที่แท้จริง

นักบุญอัมโบรซีโอได้สอนเราว่าในบูชามิสซาพระศาสนจักรต้องรู้จักถวายตัวเองแด่พระคริสตเจ้าด้วย ท่านยังได้เสริมต่อไปอีกว่าถ้าหากว่าบูชามิสซาจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเราให้เป็น “เครื่องบูชาที่มีชีวิต อันเป็นที่สบพระทัยพระบิดาเจ้าแล้วไซร้” บูชามิสซานั้นก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ในตัวเราและกลุ่มคริสตชนได้เลย แต่ถ้าหากว่าพระศาสนจักรจะรู้จักถวายตัวเองอย่างสิ้นเชิงแด่พระเจ้า พระศาสนจักรก็จะสามารถทำตัวเองให้เป็น “ทุกอย่างสำหรับทุกๆคน” ในการให้บริการอย่างวิเศษสุด แก่บรรดาพี่น้องได้

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
ให้เรามีความเคารพต่อพระคัมภีร์ ทั้งให้เราอ่านและฟังพระคัมภีร์ด้วยจิตใจที่นบนอบ

ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ