พระแม่ทรงประจักษ์ ที่บันเนอ สังฆมณฑลลิเอช์ เบลเยี่ยม

ค.ศ.1933 แม่พระทรงประจักษ์ ที่บันเนอ

ปี 1933 หลังจากการประจักษ์ครั้งสุดท้ายที่โบแรงได้ 12 วัน …ที่หมู่บ้านชาวเบลเยี่ยมเล็กๆ ประมาณ 100 ครอบครัว พวกเขามีอาชีพเลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูกในที่ดิน ที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ แต่เป็นของกลางสำหรับคนยากจน อยู่อาศัยร่วมกัน
ห่างจากวัด 1 กม. มีครอบครัวหนึ่งที่ยากจนมาก หัวหน้าครอบครัวคือนายจูเลียน เบโก เป็นกรรมกรที่ซื่อตรง ภรรยาต้องตรากตรำทำงานให้การเลี้ยงดูลูกๆ ถึง 7 คน ด.ญ. มารีแอ็ต เบโก คนหัวปี อายุ 12 ขวบ เกิดวันที่ 25 มีนาคม 1921 ตรงกับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นวันแม่พระรับสาร เธอไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนคำสอนมากนัก เธอไม่ได้ไปวัด และคงจะยังมิได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกด้วย เป็นเด็กรักสงบ ชอบครุ่นคิดและไม่ฉลาดนัก


วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม ตอนค่ำ 19.00 น. ขณะที่มารีแอ็ตมองออกไปทางหน้าต่าง ก็แลเห็นแสงสลัวๆ และต่อมาก็ "แลเห็นชัด เป็นภาพสตรีผู้หนึ่ง มีแสงเป็นประกายกำลังยืนและมองมายังเธอ พลางยิ้มให้ " เป็นสตรีสาวงดงามมาก สวมอาภรณ์สีขาวยาวลงมาคลุมเท้าซ้าย, ส่วนเท้าขวาเปลือยมีกุหลาบทองคำประดับไว้ดอกหนึ่ง, มีผ้าคลุมศีรษะผืนใหญ่, คาดรัดปะคดสีน้ำเงิน ตอนปลายแขนขาวมีสายประคำสีขาวห้อยอยู่ ทุกสิ่งที่แลเห็นนั้นรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์" ผู้ที่ประจักษ์มาทำสัญญาณให้เข้าไปหา แต่มารดาของเธอห้ามและปิดประตูใส่กุญแจไว้

วันที่ 18 มกราคม พระนางพรหมจารีกลับมาอีก และกล่าวกับหนูน้อยถึงน้ำพุแห่งหนึ่ง

วันที่ 19 มกราคม มารีแอ็ต ถามว่า "พระนางคือผู้ใด?"
คำตอบคือ "ฉันคือพระนางพรหมจารีของคนยากจน" และอีกคำถามหนึ่งเกี่ยวกับน้ำพุที่กล่าวถึงในวันก่อนก็ได้รับคำตอบว่า "น้ำพุนี้มีไว้สำหรับทุกชาติ…เพื่อบรรเทาผู้เจ็บป่วย"

วันที่ 20 แม่พระทรงขอให้สร้างวัดน้อยขึ้นหลังหนึ่ง..จากนั้นการประจักษ์ก็หยุดไป…

จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หนูมารีแอ็ตรู้สึกผิดหวังบ้าง แต่ทุกค่ำไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะเป็นเช่นไร เธอจะสวดสายประคำรออยู่ จนถึงวันนั้น ตรงกับวันครบรอบปีที่ 75 แห่งประจักษ์ของแม่พระครั้งแรกที่เมืองลูร์ด การประจักษ์จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ พระนางทรงกล่าวแก่มารีแอ็ตว่า "ฉันมาเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก"

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พระนางพรหมจารีทรงบอกความลับข้อหนึ่งแก่มารีแอ็ต "หนูจะต้องไม่บอกเรื่องนี้แก่ใครเลย แม้แต่กับคุณพ่อหรือคุณแม่…"

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ แม่พระทรงแนะให้มารีแอ็ตสวดภาวนามากๆ

และในวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นการประจักษ์ครั้งสุดท้าย พระนางทรงยืนยันกับเธอว่า
"ฉันคือมารดาพระผู้ไถ่, มารดาพระเจ้า, จงสวดภาวนามากๆ ลาก่อนนะ"
สภาพเรียบๆ ที่ไม่มีพิธีรีตองในการประจักษ์ที่บันเนอ ชวนชาวเราให้คิดถึงสภาพที่นาซาแร็ธ ซึ่งพระนางพรหมจารีเจริญชีวิตเป็นคนยากจน ท่ามกลางพวกคนยากจน …


แต่ครั้งนี้พระนางประจักษ์มาในยุคที่คนจนไม่อยากยอมรับสภาพของตน และต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง, พระนางเสด็จมาในขณะที่ชนหมู่มากกำลังถูกฉุดลากไปสู่สิ่งที่ผิด และเข้าใจผิดว่าสิ่งที่เข้าไปหานั้น คือยาบำบัดความทุกข์ของพวกตนในการยึดถือลัทธิการปฏิวัติ พระนางประจักษ์ที่บันเนอ เพื่อเตือนให้เราทราบว่า พระนางแต่ผู้เดียว สามารถขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากต่างๆ ได้ เพราะพระนางทรงเป็นคนกลางแจกจ่ายพระหรรษทานทั้งหลาย พระนางทรงประกาศว่า
"ฉันคือพระนางพรหมจารีของคนยากจน" แล้วตรัสต่อไปว่า "ฉันมาเพื่อปัดเป่าความทุกข์ร้อน"

และที่สุดในการประจักษ์ครั้งสุดท้าย พระนางทรงเตือนให้ระลึกว่า
"พระนางคือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่มีสิทธิแจกจ่ายขุมทรัพย์สวรรค์แก่ชาวเราทั้งหลาย
โดยทรงกล่าวว่า "ฉันคือมารดาพระผู้ไถ่, มารดาพระเจ้า จงสวดภาวนามากๆ เถิด"
พระสังฆราชแห่งเมืองลีเอช ประกาศรับรองการประจักษ์นี้ เมื่อ วันที่ 19 มีนาคม 1942

ในปัจจุบันการถวายคาราวะกิจแด่แม่พระที่บันเนอ ได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง มีผู้คนจากแดนไกลมาจาริกแสวงบุญกันมากมาย คนยากจนจำนวนล้านที่กระจายอยู่ตามทวีปต่างๆ ทั้ง 5 ทวีป ได้มาร่วมสวดภาวนาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เช่นนี้แหละจะเห็นได้ว่า บันเนอ มีลักษณะของความเป็นสากล ดังที่พระนางพรหมจารีทรงประกาศว่า "น้ำพุนี้มีไว้สำหรับชนทุกชาติ"

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลนครราชสีมา