ตำนานแม่พระฉวีดำ Black Madonna

ภาพเขียนแม่พระฉวีดำอุ้มพระกุมาร
ถ่ายจากภาพจริง


เป็นภาพวาดพระนางมารีย์อุ้มพระกุมารเยซูในอ้อมพระหัตถ์ซ้าย ขนาดกว้าง 82 ซม. ยาว 122 ซม. พระรูปนี้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ถึงความศักดิ์สิทธิ์ และมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
คนเชื้อชาติโปแลนด์ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพอยู่นอกประเทศ หรือชาวโปแลนด์ในประเทศก็ตาม ไม่มีใครเลยที่ไม่รู้จักชื่อ ตำบล "จัสนา โกรา" [Jasna Gora] ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องราวของแม่พระฉวีดำนั่นเอง ไม่เคยมีรูปแม่พระใด ๆ ที่มีสีผิวคล้ำเหมือนกับรูปแม่พระฉวีดำ ชาวยุโรปซึ่งเป็นคนผิวขาวจึงได้ขนานนามพระรูปนี้ว่า "Black Madonna" และเพราะความศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนอัศจรรย์ที่แสดงปกป้องประเทศโปแลนด์จากการรุกรานกันเอง ทั้งในและนอกอาณาจักร พระเจ้าจอห์น คาซิมีร์ [King John Casimir] จึงได้ทรงประกาศให้ "แม่พระฉวีดำเป็นราชินีแห่งราชวงศ์" ให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวโปแลนด์ในศตวรรษที่ 17 วัดในสำนักสงฆ์คณะ Paulite แห่งจัสนา โกรา ในเมืองเชสโตโชวา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ จึงกลายเป็นสถานที่ให้ผู้แสวงบุญจากทุกมุมโลก ได้มาสักการะขอพระพรจากแม่พระฉวีดำ

สาเหตุที่พระฉวีเป็นสีดำ เพราะเขม่าจากควันเทียนที่ผู้ศรัทธาจุดขณะสวดต่อหน้าพระรูป

พระรูปศักดิ์สิทธิ์นี้มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นภาพที่นักบุญลูกาได้วาดไว้บนแผ่นไม้ที่ต่อกัน 3 แผ่น และไม้ทั้งสามแผ่นนี้ได้มาจากโต๊ะที่ใช้อยู่ในครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ (เยซู มารีอา ยอแซฟ) ที่เมืองนาซาเร็ธ ตามตำนานเชื่อกันว่า เป็นโต๊ะที่พระเยซูเจ้า และนักบุญยอแซฟใช้ทำงานช่างไม้ และใช้เป็นโต๊ะอาหารของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ด้วย พระรูปนี้มาปรากฏตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด เป็นแต่มีบันทึกว่า ในปี ค.ศ. 326 นักบุญเฮเลนได้พบภาพดังกล่าว ขณะที่พระนางเดินทางมาแสวงบุญที่กรุงเยรูซาเลม ต่อมาท่านได้มอบภาพพระแม่ฉวีดำให้กับบุตรชาย (จักรพรรดิ์คอนสแตนติน) ซึ่งได้สร้างสักการะสถานที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล เพื่อประดิษฐานพระรูป

ต่อมาพระรูปดังกล่าวได้ถูกมอบให้เจ้าชายลีโอแห่งรูเธเนีย โดยประดิษฐานอยู่ในพระราชวัง จนกระทั่งศตวรรษที่ 11 รูเธเนียได้ถูกศัตรูบุกรุก กษัตริย์จึงได้สวดภาวนาต่อพระรูป ขอให้ทรงช่วยเหลือกองทัพเล็กๆของพระองค์ ผลก็คือความมืดได้แผ่เข้าปกคลุมบริเวณที่ตั้งของกองทัพศัตรู และในท่ามกลางความสับสนนั้นเอง ศัตรูก็ได้โจมตีกันเอง รูเธเนียจึงปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในสมัยโบราณ ไม่ว่าใครจะออกรบ ก็จะต้องนำกองทัพมาสวดภาวนา วิงวอนขอต่อพระพักตร์ของแม่พระฉวีดำก่อนเสมอ และเมื่อรบชนะกลับมาก็จะนำสิ่งของมีค่า ทั้งที่เป็นของตนเองและที่ยึดมาได้จากศัตรู มาถวายเป็นเครื่องบรรณาการแด่แม่พระฉวีดำ

ต่อมาในปี 1382 ซึ่งเป็นสมัยของเจ้าชาย Ladislaus พวกTartar ได้โจมตีพระราชวังที่ประดิษฐานพระรูป และธนูดอกหนึ่งได้แทงทะลุพระรูปบริเวณพระศอ เจ้าชายจึงได้นำพระรูปไปประดิษฐานที่ Mount of Light (Jasna Gora)ในประเทศโปแลนด์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพระสุบินของพระองค์ ทุกวันนี้สมบัติของแม่พระฉวีดำ ที่อยู่ที่วัดในสำนักสงฆ์คณะ Paulite แห่ง จัสนา โกรา นั้นมีมากมายมหาศาล

ในปี ค.ศ.1430 พระรูปถูกทำลายบางส่วน โดยกลุ่มโจรพวกฮัสไซท์ จากแคว้นโบฮิเมียและโมราเวีย ที่ได้เข้ามารุกราน เพื่อหวังจะปล้นเอาสมบัติล้ำค่าของวัด ในระหว่างสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ของปี ค.ศ.1430 แต่เมื่อค้นหาทรัพย์สมบัติไม่ได้ตามที่ต้องการ จึงได้ปล้นเอาศาสนภัณฑ์ที่ใช้ในพิธีกรรมไป แล้วดึงพระรูปแม่พระฉวีดำ [Madonna] ลงมาจากแท่นบูชา แกะเอาอัญมณี และเครื่องทองที่ประดับพระรูปไปจนหมด เท่านั้นยังไม่พอ พวกโจรยังได้ใช้ดาบกรีดพระพักตร์แม่พระฉวีดำ ปรากฏเป็นทางยาวตลอดแก้มขวา แล้วทุบพระรูปจนแตกหัก แต่ก่อนที่พวกโจรจะทำลายได้มากกว่านั้น เขาได้ล้มลงสิ้นใจด้วยความเจ็บปวดทรมาน รอยกรีดที่พระพักตร์ปรากฏเป็นสีแดงคล้ายรอยเลือดเห็นได้จนทุกวันนี้ พระรูปที่ชำรุดเสียหายนี้ ได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลาประชาคมเมืองคราโค๊ฟ

เมื่อบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ ก็ได้มีการซ่อมแซมพระรูปแม่พระฉวีดำใหม่ ช่างฝีมือชั้นเยี่ยมสมัยนั้น เช่น ศิลปินจากสำนัก "รูเธเนียน" และ "อิมพีเรียล ฮับส์เบอร์ก" ต่างพยายามลอกแบบจากต้นฉบับเดิมที่ชำรุดเสียหาย พวกเขาวาดได้งดงามเหมือนของเดิมบนผืนผ้าใบ ด้วยขนาดและสีสันอย่างเดียวกัน พอวาดเสร็จ ปรากฏว่า สีที่วาดไว้ได้ไหลเยิ้มจนเลอะเทอะไปหมดทั้งภาพ ได้มีการพยายามที่จะลอกแบบเพื่อวาดภาพให้เหมือนเดิมอยู่ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากเมื่อวาดภาพเสร็จ แม้จะเหมือนเกือบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน วันรุ่งขึ้นสีก็จะไหลเลอะเทอะอีก นับเป็นความมหัศจรรย์ที่น่าทึ่งประการหนึ่ง

การซ่อมแซมพระรูปแม่พระฉวีดำจึงต้องกลับมาหาของเดิม คือนำแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์มาประกอบเข้ากับขนาดเท่าเดิม ซ่อมชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แตกหักเข้าด้วยกัน รวมทั้งสีต่าง ๆ จากรูปเดิมที่ยังเหลืออยู่บนแผ่นไม้ จนกระทั่งปรากฏเป็นพระรูปแม่พระฉวีดำอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ทางการได้นำพระรูปนี้ไปประดิษฐานยังพระแท่นเดิมในเมืองเชสโตโชฟา

พระรูปแม่พระฉวีดำ มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือเช่นเดียวกับที่แม่พระประจักษ์ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวโปแลนด์ ทรงปกป้องประเทศมิให้สูญสลายสิ้นชาติ แม้จะเหลืออาณาเขตเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งเท่านั้น

 

พระรูปนั้นงดงามด้วยฝีมือวาด และเครื่องทองตลอดจนอัญมณีที่ประกอบเป็นฉลองพระองค์ ประดับแพรวพราวด้วยเพชรนิลจินดา และมงกุฏล้ำค่าที่ประดิษฐานบนพระเศียรของแม่พระและพระกุมาร ฉลองพระองค์ดังกล่าวมีด้วยกัน 5 ชุด ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชุด คือ ฉลองพระองค์ที่ได้ชื่อว่า "เครื่องทรงเพชร" ประดับด้วยสิ่งมีค่าพระราชทานจากองค์กษัตริย์และราชวงศ์สายสกุลต่าง ๆ ในยุโรปสมัยก่อน ส่วนอีกชุดหนึ่ง คือ "เครื่องทรงทับทิม" เพราะมีทับทิมเม็ดใหญ่ประดับอยู่ด้วย ฉลองพระองค์ชุดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ฉลองพระองค์แห่งความซื่อสัตย์" เนื่องจากมีแหวนแต่งงานเป็นร้อย ๆ วงที่คู่สามีภรรยานำมาถวายแด่แม่พระ เพื่อแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างเขาทั้งสอง

ใครก็ตาม ไม่ว่าศิลปินหรือชาวบ้านธรรมดา ๆ ทุกคนที่ได้ไปเห็นพระรูปแม่พระฉวีดำ นอกจากจะชื่นชมกับผลงานในเชิงศิลปะแล้ว ยังต้องยอมรับกันว่า พระพักตร์ที่สง่างามและสงบนิ่ง บันดาลให้เกิดความศรัทธาขึ้นในจิตใจได้อย่างประหลาด และอดที่จะเกิดความรู้สึกไม่ได้ว่าตนกำลังยืนอยู่บนธรณีประตูระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ และยิ่งจ้องมองดูก็คล้ายกับว่า พระรูปนั้นทรงมีชีวิตที่มีทั้งพระคุณและความสง่างามน่าเกรงขาม

เรียบเรียงจาก "The Shrine of the Black Madonna at Czestochowa" และ " TheCultural Heritage of Jasna Gora"

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลนครราชสีมา