นักบุญ ออกัสติน (ค.ศ.354 - ค.ศ.430)

พระสังฆราชและนักปราชญ์

ระลึกถึงวันที่ 28 สิงหาคม

นักบุญ ออกัสติน เกิดที่เมืองทากาสท์ ( ปัจจุบันคือเมือง ซุคอาห์ราส ในประเทศอัลจีเรีย ) ท่านได้ผ่านวัยหนุ่มมาอย่างโชกโชนและค่อนข้างเหลวแหลก แต่ท่านได้กลับใจอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อมีอายุได้ 32 ปี โดยได้รับศีลล้างบาปจากนักบุญอัมโบรซีโอที่เมืองมิลาน ท่านได้กลับสู่ อัฟริกาบ้านเกิดเมืองนอนของท่านหลังจากความตายของนักบุญมอนิกา ผู้เป็นมารดา และได้อุทิศชีวิตที่เหลือแด่พระเจ้าอย่างสิ้นเชิง โดยได้เจริญชีวิตแบบนักบวช ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์ และต่อมาก็ได้รับอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชของเมืองฮิปโป ( ใกล้ๆกับเมืองโบนาในประเทศอัลจีเรียปัจจุบัน )

นักบุญ ออกัสติน ได้ออกแรงทำงานต่อสู้กับพวกเฮเรติ๊ก และกับพวกที่หลงผิดไปเป็นเวลานานเกือบ 40 ปี เช่น พวกนิยมลัทธิมานีเค พวกโดนาติสต์ พวกเปลาเจียน และพวกนิยมอารีอุส โดยได้ทิ้งผลงานเขียนไว้มากมาย เช่น Confessions, City of God, ฯลฯ

นักบุญ ออกัสติน เป็นอัจฉริยะของโลก กอร์ปด้วยสติปัญญาที่ลึกซึ้งอย่างหาตัวจับยาก มีจินตนาการที่กว้างไกล และมีหัวใจที่ไม่รู้จักอิ่มในการแสดงความรักต่อองค์พระเจ้าที่ได้ทรงสร้างท่านมา ท่านได้ทำการพัฒนาเทววิทยาสมัยก่อนท่านเสียใหม่ ท่านเป็นคนที่มีนิสัยใจกว้างและรู้จักเห็นใจผู้อื่น สามารถให้อภัยคนอื่นได้ง่ายๆ แม้กระทั่งศัตรูของท่านด้วย ท่านรู้จักสอดแทรกอารมณ์ขันลงไปด้วย ชีวิตภายในและวินัยของนักบวชในทุกยุคทุกสมัยนอกจากคณะนักบวชออกัสตินแล้ว ยังมีนักบวชทั้งชายและหญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้ถือวินัยที่ท่านได้ตั้งขึ้นด้วย ทั้งเคารพนับถือท่านเหมือนบิดา

นักบุญ ออกัสติน เป็นปิตาจารย์ชั้นเลิศ และเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ท่านแรกในจำนวน 4 ท่านของพระศาสนจักรลาติน ( อีก 3 ท่าน คือ นักบุญอัมโบรซีโอ นักบุญเยโรม และนักบุญเกรกอรี่องค์ใหญ่ )

มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยได้มีความรู้สึกถึงความเป็น “ออกัสติน” ของท่าน คือ นักวิจารณ์สมัยใหม่ได้รู้จักรื้อฟื้นเอารูปแบบของคนๆ หนึ่งที่พูดอย่างซื่อๆ และด้วยความจริงใจถึงตัวเองขึ้นมาให้ปรากฎแก่สายตาของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าพิศวงยิ่งขึ้นในนักบุญออกุสติน คือ ความสามารถที่มองเข้าไปในตัวเอง และในคนอื่น ความสามารถที่จะรู้จักสำรวจดูอารมณ์ของตนเอง ความสามารถที่จะรู้จักยอมรับความบาปผิด และความหลงผิดของตน และที่สุดท่านมีความสามารถที่จะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นการยอพระเกียรติพระเจ้า ( เทียบ 1 คร 4, 7 ) นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเพื่อพระศาสนจักรนับเป็นพันๆ ชิ้น อีกด้วย

นักบุญ ออกัสติน ได้ทำให้การชุมนุมกันเพื่อจะร่วมกันถวายบูชามิสซา เป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตของบรรดาสัตบุรุษ บทเทศน์สอนจำนวนนับไม่ถ้วนของท่านได้แสดงให้เราเห็นว่า ท่านรู้จักดัดแปลงพระวาจาของพระเจ้า ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของคนในสมัยของท่านอย่างไรบ้าง

คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้ศีลมหาสนิทได้เป็นหัวใจของชีวิตของพระศาสนจักร
2. ขอให้เราได้ทวีความเชื่อของเราในองค์พระเยซูเจ้า พระองค์ซึ่งกำลังทำงานอยู่ในพระศาสนจักร
3. ขอให้นักบุญ ออกัสติน ได้ช่วยเสนอต่อพระเจ้าให้เราได้มีความสำนึกที่มีชีวิตชีวาที่เราต้องมีต่อพระศาสนจักร

ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลจันทบุรี