นักบุญมักซีมีเลียน มารีย์ โกลเบ

พระสงฆ์และมรณสักขี (1894-1941)

ระลึกถึงวันที่ 14 สิงหาคม

ในวันที่ 10 ตุลาคม 1982 ซึ่งมีการสถาปนานักบุญที่กรุงโรม มักซีมีเลียน โกลเบก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับการสถาปนานั้นด้วย เพราะท่านได้อุทิศชีวิตของตนเพื่อชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวคนหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 2 ทรงตรัสว่า “จงมองดูชายผู้นี้ ผู้ได้อุทิศตนเพื่อพระคริสตเจ้าโดยผ่านทางพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล”

ประวัติโดยย่อของท่านคือ ท่านเป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวน 3 คน ของครอบครัวชาวคาทอลิกที่ยากจนในประเทศโปแลนด์ พ่อแม่ของท่านเป็นช่างทอผ้า โดยทำงานอยู่ที่บ้าน ต่อมาได้ดำเนินกิจการร้านหนังสือด้านศาสนา ภายหลังได้เข้าร่วมกองทัพเพื่อปลดปล่อยโปแลนด์จากรัสเซีย และที่สุดในปี 1914 ได้ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในข้อหาทรยศต่อรัสเซีย

ในวัย 12 ขวบ หลังพิธีรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ท่านได้รับนิมิตจากพระแม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตท่าน ในนิมิตท่านได้ถามพระนางว่า จะเกิดอะไรกับท่านบ้าง พระนางได้ก้าวเข้ามาหาท่านพร้อมกับกางเขน 2 อัน สีขาวกับสีแดง และให้ท่านเลือกว่าจะเอากางเขนสีใด โดยสีขาวหมายถึงการรักษาพรหมจรรย์ ส่วนสีแดงหมายถึงการเป็นมรณสักขี และท่านได้กล่าวว่า ท่านขอเลือกทั้ง 2 อัน

ในวันที่ 4 กันยายน 1910 ขณะอายุ 16 ปี ท่านได้ตัดสินใจเป็นนวกในคณะฟรังซิสกัน โดยใช้ชื่อแมกซิมิเลียน กล่าวคำปฏิญาณครั้งแรกในวันที่ 5 กันยายน 1911 และกล่าวคำปฏิญาณครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1914

ในวันที่ 17 ตุลาคม 1917 ท่านได้ตั้ง “กองทหารอาสาสมัครแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล” หลังจากนั้นอีก 5 ปี คือ ปี ค.ศ.1922 ท่านได้ตั้งที่ประเทศโปแลนด์อันเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้ทำหนังสือ “อัศวินแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายเดือนที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ความศรัทธาเยี่ยงบุตรต่อพระนางมารีย์ ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของท่านนี้เอง ในปี ค.ศ.1927 ท่านได้ตั้ง “เมืองแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล” ศูนย์กลางเพื่อการเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระนางมารีย์ โดยใช้อุปกรณ์ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น เป็นแม่แบบในการแพร่ธรรม เป็นการเผยแพร่พระวรสารด้วยการพิมพ์ลงไปในหนังสือ

ในปี ค.ศ.1930 มักซีมีเลียน โกลเบ ได้ขยายกิจการออกไปนอกยุโรป ได้ก่อตั้ง “เมืองแห่งพระนางมารีอา” ที่เมืองนางาซากิ : ถ้าเมล็ดข้าวไม่ตกลงในดินและเน่าเปื่อยก็จะไม่เกิดผล: เช่นเดียวกับมักซีมีเลียน โกลเบ ในการเป็นพยานยืนยันถึงความรักครั้งสุดท้ายของท่านในค่ายกักกันออสวิช ในค่ายกักกันที่ท่านถูกควบคุมอยู่นี้ นักบุญแห่งคณะฟรังซิสกันผู้นี้ได้สับเปลี่ยนตัวกับนักโทษผู้หนึ่งในสิบคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการให้อดอาหารตายในห้องใต้ดิน ฟรานซิส กาโจนัคเซค ชายผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวคนนี้ ผู้ซึ่งมักซีมีเลียน โกลเบได้อุทิศตนเองไปแทนที่ การกระทำอันน่าพิศวงของท่านนี้มิได้รอดพ้นจากสายตาของทหารที่เฝ้าค่ายอยู่ “ท่านเป็นใคร” ทหารถามขณะที่ปั๊มตราหมายเลขที่แขน “พระสงฆ์คาทอลิก” มักซิมีเลียน โกลเบตอบ

ท่านตายก่อนวันฉลองแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์หลังจากได้รับการทรมาณจากการเข้าตรีทูตอย่างยาวนาน ท่านอดทนด้วยความสงบ บรรเทาใจผู้ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับท่าน ชีวิตของผู้ที่รักพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลก็จบลงด้วยการเป็นมรณสักขีแห่งความรัก ท่ามกลางความทุกข์ทรมานในค่ายกักกันนาซี