รายละเอียดพิเศษต่างๆในเทศกาลมหาพรต


เทศกาลมหาพรตเริ่มตั้งแต่วันพุธรับเถ้า ซึ่งมีพิธีเสก และโปรยเถ้าบนศีรษะของคริสตชน "ขี้เถ้า" มาจากใบลานที่คริสตชนใช้แห่ในวันอาทิตย์ใบลานเมื่อเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ของปีก่อนหน้า นำมาเผาให้กลายเป็นเถ้า เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายภายนอกของความเป็นทุกข์ถึงบาป และสภาพของมนุษย์ที่เป็นคนบาป และได้พยายามแสดงความสำนึกผิดของตนต่อพระเจ้าด้วยการแสดงออกมาเป็นพิธีภายนอก เครื่องหมายประการนี้จึงเป็นการเริ่มเดินทางมุ่งสู่การกลับใจ การเสกและโปรยเถ้าจะทำในพิธีมิสซาของวันพุธรับเถ้า ในพันธสัญญาเดิมมีกล่าวถึงการใช้เถ้าโปรยศรีษะเป็นเครื่องหมายแสดงการไว้ทุกข์หรือการกลับใจ เช่น ยชว 7:6;2 ซมอ 13:19; อสค 27:30; โยบ 2:12,42; ยนา 3:6; อสธ 4:3; ยดธ 9:1; อสย 58:5-7; ดนล 9:3; ยอล 2:12-13 เป็นต้น มีหลักฐานปรากฏว่า คริสตชนเริ่มใช้เถ้าโรยศีรษะเป็นเครื่องหมายแสดงการเป็นทุกข์กลับใจเมื่อเริ่มเทศกาลมหาพรตนี้ ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 10 เท่านั้น ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ แต่ก็เป็นเพียงกิจศรัทธาส่วนตัว ต่อมาธรรมเนียมนี้ขยายเข้ามาในคาบสมุทรอิตาลีในศตวรรษที่ 11 เข้ามาที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 12 และถูกรับเข้ามาในหนังสือพิธีกรรมของพระศาสนจักรที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 13 เท่านั้น

พิธีรับเถ้าในวันพุธเริ่มเทศกาลมหาพรต ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงกิจศรัทธาส่วนตัวและต่อมาถูกรับเข้ามาในพิธีกรรมทางการของพระศาสนจักรนั้น ยังเป็นโอกาสให้เราเริ่มเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความสำนึกถึงสภาพต่ำต้อยของเราดังถ้อยคำของพิธีกรรมที่บอกเราว่า "มนุษย์เอ๋ย จงระลึกเถิดว่าท่านเป็นเถ้าธุลีและจะกลับเป็นเถ้าธุลีอีก" ส่วนถ้อยคำอีกแบบหนึ่งของพิธีโปรยเถ้า ที่ว่า "จงกลับใจใช้โทษบาปและเชื่อพระวรสาร ("ข่าวดี") เถิด" (เทียบ มก 1:15) นั้น ชี้แนะแนวทางที่เราจะต้องเดินตลอดเทศกาลมหาพรตนี้ เพื่อเข้าร่วมอยู่ในพระอาณาจักรของพระเจ้าและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพซึ่งเราจะสมโภชในเทศกาลปัสกา

เนื่องจาก เป็นเทศกาลที่เน้นการใช้โทษบาป การเป็นทุกข์ถึงบาป และการกลับใจเพื่อเตรียมตัวเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของการกลับคืนพระชนม์ชีพอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าในเทศกาลปัสกา พิธีกรรมในวัดช่วงนี้ จึงงดการตกแต่งประดับประดาที่เกินความจำเป็น เช่น ไม่ตกแต่งดอกไม้บนพระแท่น ไม่เล่นดนตรีระหว่างพิธี การเว้นขับร้องบท "พระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria)" และบท "อัลเลลูยา (Alleluia)" การเลือกบทเพลงในพิธีควรจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเทศกาล และตัวบทของพิธีกรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมกิจศรัทธาที่เข้ากันได้ดีกับเทศกาลเช่น "การเดินรูปสิบสี่ภาค" เป็นต้น บทอ่านในพิธีกรรมวันพุธรับเถ้านี้ทั้งสามบท ยังเชิญชวนเราให้มองชีวิตจากแง่มุมต่างกัน บทอ่านบทแรกจากหนังสือประกาศกโยเอล (ยอล 2:12-18) เตือนเราไม่เพียงแต่ฉีกเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการไว้ทุกข์ภายนอกเท่านั้น แต่เราต้อง "ฉีกจิตใจ" คือเป็นทุกข์กลับใจละทิ้งบาป และความชั่วอย่างจริงจัง พระเมตตาของพระเจ้าพร้อมที่จะให้อภัยความผิดของเราทุกคน บทอ่านที่สองจากจดหมายของนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโครินธ์ (2 คร 5:20 , 6;2) เตือนให้เรากลับคืนดีกับพระเจ้า และกับเพื่อนมนุษย์ ใช้เวลาที่พระเจ้าประทานให้ในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์นี้ประกอบกิจการดี ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับทุกคนส่วนพระวรสาร (มธ 6:1-6,16-18) เตือนให้เราปฏิบัติกิจการดีของตนอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ โดยไม่โอ้อวด หรือแสวงหาคำชมจากคนที่เห็นกิจการดีของเรา ข้อความที่บอกให้เราเข้าไปในห้องชั้นใน เพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเจ้าโดยตรงนั้น ไม่ได้ห้ามเราที่จะมาร่วมพิธีกรรมส่วนร่วมพร้อมกับพี่น้องคริสตชนคนอื่นๆ ตรงกันข้าม พิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตแต่ละวันมีบทสอนคริสต ชนทุกคนทั้งที่กำลังเตรียมตัวจะรับศีลล้างบาป และผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วให้ดำเนินชีวิตคริสตชนได้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น และคริสตชนก็มีธรรมเนียมมาร่วมพิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตนี้เป็นพิเศษตลอดมาอีกด้วย คำเตือนของพระวรสารจึงบอกให้เราระวังไม่ให้การอธิษฐานภาวนาของเรา เป็นเพียงการโอ้อวดภายนอกเท่านั้น การอธิษฐานภาวนาของเราต้องเป็นการสนทนาส่วนตัวกับพระบิดาเจ้าด้วย

วันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต เป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติกิจการมหาพรตประจำปี พระสังฆราชควรประกอบพิธี "เลือกสรร" ให้กับคริสตชนสำรอง ในอาสนวิหาร หรือในวัดอื่นที่เหมาะสม และในวันอาทิตย์ที่สี่ของเทศกาล เรียกว่า "อาทิตย์ Laetare" อาจบรรเลงดนตรีและใช้ดอกไม้ตกแต่งพระแท่นบูชาได้ และยังอาจใช้อาภรณ์พระสงฆ์เป็นสีกุหลาบได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมคลุมไม้กางเขนและรูปต่างๆในวัด ด้วยผ้าคลุมสีม่วง ในช่วงเทศกาลมหาพรตด้วย ซึ่งเป็นธรรมประเพณีตามแต่ละท้องถิ่น ภายใต้การกำหนดของสภาพระสังฆราชประจำท้องถิ่นนั้น

ขอขอบคุณ
www.saranae.com