ปัสกา (Easter)
(คอลัมน์ "เปิดซองคำถาม" โดยบอระเพ็ด เจ็ดย่านน้ำ จากวารสารอุดมศานต์)


คำ Easter เป็นศัพท์แองโกล-แซ็กซอน หมายถึง เทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ ( Anglo-Saxon Easter ,a goddess of sping ) แต่คำ "ปัสกา" มาจากภาษาฮิบรู Pesach หมายถึงการผ่านของทูตสวรรค์ ในคืนที่อิสราแอลพ้นจากการเป็นทาส ในแผ่นดินอียิปต์ (อพย. 12.11)

ฉลองปาสกาของชาวคริสต์จึงหมายถึง การฉลองการผ่านจากความทุกข์สู่ความยินดี อาศัยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระคริสเจ้า หรือความหมายทางเทววิทยา ปัสกาคือ ฉลองการข้ามพ้นบาปนั่นเอง
นับตั้งแต่เริ่มแรกพระศาสนจักร ถือว่าการกอบกู้มนุษยชาติของพระเยซูคริสต์ ประกอบด้วยมหาทรมานและการกลับคืนชีพ ดังนั้น ฉลองปัสกา จึงต้องประกอบด้วยพิธีกรรม 2 ภาคดังกล่าว เริ่มด้วยพิธีกรรมวันศุกร์ศักสิทธิ์ และจบด้วยพิธีกรรมวันอาทิตย์ปัสกา พึงสังเกตว่า พิธีระลึกการตั้งศีลมหาสนิท และการล้างเท้าอัครสาวกในวันพฤหัสศักสิทธิ์นั้น เพิ่งจะมีในภายหลัง ราวศตวรรษที่ 2-8 คริสตชนรุ่นแรกๆ ได้เน้นการเตรียมฉลองปัสกาอย่างมาก ในศตวรรษที่ 2 เอง มีทางเชื่อได้ว่า มีการจำศีลอดอาหารตลอดอาทิตย์ศักสิทธิ์ทีเดียว ในสมัยกลาง มีธรรมเนียมไปดูพระคูหาศักสิทธิ์ ต่อมามีการนมัสการพระกายของพระคริสต์ ที่ประทับในพระคูหา ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมนมัสการกางเขนในวันศุกร์ศักสิทธิ์


เกี่ยวกับวันปัสกา ที่มีปัญหาไม่ตรงกันสักปี มีความเป็นมาดังนี้ พระศาสนจักรตะวันออกยึดเอาวันที่ 14 เดือนนิซานของชาวยิว ( ประมาณกลางเดือน มีนาคม - เมษายน ) ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นพระชนม์ ในวันที่ลูกแกะปัสกาถูกฆ่าบูชายัญในพระวิหาร เป็นวันปัสกา ตามข้อเขียนของนักบุญเปาโล " พระคริสต์องค์ของเราได้ถูกฆ่าบูชายัญ " ( 1 คร.5.7 ) แต่พระศาสนจักรตะวันตก เป็นต้นที่โรม ถือตามธรรมเนียมซึ่งฉลองปัสกาวันอาทิตย์เสมอ จึงถือเอาวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 เดือนนิซาน เนื่องจากปฏิทินยิวถือตามจันทรคติ วันฉลองปัสกาจึงไม่คงที่